ตรัง – จังหวัด ตรัง เจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 38 หรือ ตรัง เกมส์ เจอปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ เหลือเวลาเตรียมงานเพียง 6 เดือน ต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท วอนขอความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน
วันนี้ (4 มี.ค.) นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัด ตรัง กล่าวถึงการจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 38 หรือ ตรัง เกมส์ ซึ่งจะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 9-19 กันยายน 2552 และการแข่งขันกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 28 หรือ ศรี ตรัง เกมส์ ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 24-28 ตุลาคม 2552 ว่า สิ่งที่จังหวัด ตรัง รู้สึกหนักใจมากที่สุด ก็คือ ปัญหาเรื่องงบประมาณ อันเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในปีนี้ ทำให้การสนับสนุนงบประมาณทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ไม่ว่าจะเป็นการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือบริษัทห้างร้านต่างๆ
นอกจากนั้น ยังเหลือเวลาอีกแค่ 6 เดือน ก็จะถึงการแข่งขันกีฬาดังกล่าวแล้ว ทำให้ทางจังหวัด ตรัง ต้องพยายามอย่างเต็มที่ที่จะจัดเตรียมความพร้อมให้ดีที่สุด โดยการเกลี่ยงบประมาณไปใช้ในส่วนที่จำเป็นและประหยัด เพราะค่าใช้จ่ายในบางด้าน เช่น การปรับปรุงสนามแข่งขัน ต้องใช้เงินสูงมาก และบางแห่งจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป เช่น สนามกีฬากลางเทศบาลนคร ตรัง ซึ่งเทศบาลเองก็มีงบประมาณจำกัด ในขณะที่จังหวัด ตรัง ก็ไม่สามารถช่วยเหลือได้ทั้งหมด พร้อมทั้งได้ให้คณะกรรมการฝ่ายจัดหารายได้และสิทธิประโยชน์ ที่มี นายสุรพล วิชัยดิษฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ตรัง เป็นประธาน ไปหาแนวทางในการดึงงบประมาณเข้ามาเพิ่มเติมด้วย
นายสุธรรม ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการ ศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) จังหวัด ตรัง ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการฝ่ายจัดหารายได้และสิทธิประโยชน์ กล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพ ตรัง เกมส์ ในครั้งนี้ ค่อนข้างที่จะประสบปัญหา เพราะทั่วโลกและทั่วประเทศกำลังเจอวิกฤตด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาตินั้น จะต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 150 ล้านบาท
ทั้งนี้ แม้ว่าจังหวัด ตรัง จะได้วางแผนเตรียมการมาตั้งแต่ปี 2551 ด้วยการของบสนับสนุนไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีอยู่ทั้ง 100 แห่ง คือ อบจ.เทศบาล และ อบต.โดยในปีงบประมาณ 2551 ได้เงินมา 4 ล้าน 5 แสนบาท
ส่วนในปีงบประมาณ 2552 จังหวัด ตรัง ตั้งเป้าเอาไว้ว่า จะได้งบสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาอีก 24 ล้านบาท โดยยังไม่นับรวมงบประมาณที่เทศบาลนคร ตรัง จะต้องอุดหนุนด้วยการเตรียมสนามกีฬากลาง เพื่อรองรับการจัดการแข่งขันอีกจำนวนหนึ่ง ส่วน อบจ. ตรัง ก็ได้ตั้งงบอุดหนุนให้แล้วประมาณ 10 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้แบ่งให้จังหวัด ตรัง นำไปใช้ 5 ล้านบาท และ อบจ. ตรัง จะนำไปใช้ในงานด้านประชาสัมพันธ์อีก 5 ล้านบาท ขณะเดียวกัน จังหวัด ตรัง ก็ได้ทำเรื่องขอสนับสนุนงบประมาณ ไปยังกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬาด้วย แต่ยังไม่ได้รับคำตอบว่าจะได้มาจำนวนเท่าไหร่
นอกจากนั้น จังหวัด ตรัง ยังได้รับงบประมาณสนับสนุน จาก กกท.ส่วนกลาง มาประมานเกือบๆ 100 ล้านบาท สำหรับเป็นเบี้ยเลี้ยงนักกีฬา หรือค่าจัดการแข่งขัน ฉะนั้น ในส่วนที่เหลือจึงเป็นหน้าที่ของจังหวัด ตรัง ที่จะต้องวิ่งเต้นหางบประมาณมาให้ได้มากพอ สำหรับการดำเนินการ ภาระหนักจึงไปตกอยู่กับคณะกรรมการฝ่ายจัดหารายได้และสิทธิประโยชน์ และล่าสุดจังหวัด ตรัง ได้มีการเปลี่ยนแปลงให้พาณิชย์จังหวัด ตรัง ดำรงตำแหน่งเลขานุการฝ่ายนี้แทนแล้ว เพราะต้องการมีผู้รับผิดชอบเพิ่มขึ้น และ กกท.จังหวัด ตรัง ก็จะได้มีเวลาดูแลงานในภาพรวมมากขึ้น อีกทั้งคงหวังให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพด้วย
สำหรับสนามแข่งขันหลักที่เทศบาลนคร ตรัง จะทำการปรับปรุงใหม่นั้น คาดว่า จะใช้สนามหญ้าเทียม เพราะในช่วงเวลาจัดงานอาจจะมีฝนตกลงมา ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 40 ล้านบาท โดยสนามหญ้าเทียมมีจุดดี คือ ดูแลรักษาได้ง่าย เพียงแต่จะมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งปัจจุบันก็ไม่เป็นที่นิยมใช้ในประเทศไทยอีกแล้ว นอกจากสนาม 2 แห่งก่อนหน้านี้ คือ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่พัทยา โดยหากจังหวัด ตรัง ตัดสินใจใช้สนามหญ้าเทียม ก็จะถือเป็นสนามที่ 3 ของประเทศไทย และเทศบาลนคร ตรัง จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าสนามเอง รวมทั้งยังเป็นกำลังหลักในการสนับสนุนการจัดการแข่งขัน เพราะมีความพร้อมทั้งกำลังคนและงบประมาณ
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์