ตรัง - ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานความมั่นคง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรประชุมร่วมกับ กอ.รมน.จังหวัด ตรัง สร้างเครือข่ายดูแลรักษาความมั่นคง เพื่อมิให้ถูกแทรกแซงหรือประชาชนในจังหวัด ตรัง ถูกชักนำจากผู้ไม่หวังดีต่อทางราชการ
วันนี้ (9 ก.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัด ตรัง ชั้น 3 พลโทจุมภฎ ศรีธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานความมั่นคง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พร้อมคณะ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมและรับฟังรายงานสรุป ผลการดำเนินงานของ กอ.รมน.จังหวัด ตรัง โดยมี นายสุรพล วิชัยดิษฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัด ตรัง ในฐานะ รอง ผอ.รมน.ฝ่ายพลเรือน พ.อ.อภินันท์ แจ่มแจ้ง ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 15 (ร.15 พัน 4) ค่ายพระยารัษฎานุประดิษฐ์ จังหวัด ตรัง ในฐานะ รอง ผอ.รมน.ฝ่ายทหารบก นายไชยยศ ธงไชย ปลัดจังหวัด ตรัง ในฐานะหัวหน้าสำนักงาน กอ.รมน.จังหวัด ตรัง และกำลังพลใน กอ.รมน.จังหวัด ตรัง รวม 31 อัตรา เข้าร่วม
นายสุชิน สุธาชีวะ หัวหน้าส่วนวิเคราะห์และบูรณาการแผน กอ.รมน.จังหวัด ตรัง รายงานผลการสรุปการดำเนินงาน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 ถึง เดือนมิถุนายน 2551 ว่า ในส่วนของสภาพปัญหาความมั่นคงในจังหวัด ตรัง แบ่งออกเป็น 2 ส่วน เนื่องจากภูมิประเทศของจังหวัด ตรัง มีส่วนที่ติดกับชายฝั่งทะเล ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่างจากบนบก คือ ปัญหาการขนส่งสินค้าเถื่อน
ส่วนสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วไป คือ ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การชุมนุมประท้วง และการเคลื่อนไหวเคลื่อนย้ายของบุคคลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
สำหรับปัญหาการเคลื่อนย้ายของบุคคลใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น เกิดมาจากหลายสาเหตุ เช่น การหลบหนีภัย ซึ่งเริ่มต้นด้วยการส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาในจังหวัด ตรัง การหลบหนีคดีเข้ามาหลบภัย
เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมา สามารถจับกุมคนร้ายได้ จำนวน 1 คน ที่หลบหนีเข้ามาหลังจากก่อเหตุในจังหวัดยะลา การเข้ามาเพื่อสืบหาข่าว พร้อมการหาแนวร่วมอาศัยการปฏิบัติกิจการทางศาสนา ด้วยการบิดเบือนศาสนาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และการลอบเข้ามาขนส่งยาเสพติด โดยที่พบมากคือ พืชกระท่อม เพื่อนำไปทำยาเสพติดชนิด 4 คูณ 100
นอกจากนั้น กอ.รมน.จังหวัด ตรัง ยังได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อให้คำปรึกษาแก่มวลชนในทุกพื้นที่ ด้วยการสร้างเครือข่ายดูแลรักษาความมั่นคง เพื่อมิให้ถูกแทรกแซงหรือประชาชนในจังหวัด ตรัง ถูกชักนำจากผู้ไม่หวังดีต่อทางราชการ โดยเฉพาะการเฝ้าระวังและติดตามความเคลื่อนไหว เกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดสตูล
พลโทจุมภฎ ศรีธรรม ผอ.ศปม.รมน.กล่าวว่า จากการรายงานที่เกิดขึ้นในจังหวัด ตรัง นั้น สภาพสถานการณ์โดยทั่วไปนั้น ยังถือว่าอยู่ในสภาพปัญหาที่ปกติ แต่เพื่อความสงบเรียบร้อย จะต้องมีการติดตามเฝ้าระวังทุกสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของทางจังหวัดแต่อย่างใด
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์