ผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี รวมจำนวน 118 ราย และเสียชีวิตแล้ว 2 ราย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะรับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสดังกล่าวจะติดมากับมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก และน้ำจากตุ่มพอง จากบาดแผล เตือนใส่ใจสถานเลี้ยงเด็กที่มีการกระจายเชื้อได้ง่ายหากมีเด็กคนหนึ่งคนใดเป็น
นายแพทย์สมนึก เชื้อทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ตรัง เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ในจังหวัด ตรัง ขณะนี้ ว่า ในช่วงที่ผ่านมาจังหวัด ตรัง พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี รวมจำนวน 118 ราย ซึ่งจากสถานการณ์จากทั่วประเทศ พบผู้ป่วยที่เป็นโรคมือ เท้า ปาก รวมทั้งสิ้น 14,255 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว จำนวน 2 ราย
สำหรับโรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสลำไส้ หรือเอนเทอไวรัสหลายชนิด ซึ่งจะพบบ่อยในเด็กทารก และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยการแพร่เชื้อของโรคดังกล่าว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะรับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง ซึ่งเชื้อไวรัสดังกล่าวจะติดมากับมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก และน้ำจากตุ่มพอง จากบาดแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย รวมทั้งจากการไอและจามรดใส่กัน
นอกจากนั้น การแพร่เชื้อและการติดต่อจะเกิดขึ้นได้ง่าย ในช่วงสัปดาห์แรกของการเจ็บป่วย และอาการของโรคหลังจากได้รับเชื้อเข้าไปแล้ว 3-6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย ด้วยอาการไข้ต่ำๆ และอ่อนเพลีย หลังจากนั้น 2 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปาก กลืนน้ำลายไม่ได้ และไม่ยอมกินอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม แต่อาการจะหายไปเองภายใน 7 วัน
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เสียชีวิตจากโรคมือ เท้า ปาก จะเกิดมาจากภาวะแทรกซ้อนของตัวผู้ป่วย โดยเชื้อไวรัสดังกล่าวจะเข้าไปที่ปอด กล้ามเนื้อหัวใจ และสมอง จนส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เพราะโรคนี้ไม่มียารักษาเฉพาะโรค ซึ่งแพทย์ผู้รักษาจะให้ยารักษาตามอาการของผู้ป่วย เช่น ยาลดไข้ ยาทาแก้ปวด
ดังนั้น ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอายุต่ำกว่า 5 ปี ควรดูแลรักษาคามสะอาดให้กับบุตรหลานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสถานรับเลี้ยงเด็ก หากเด็กคนใดป่วยเป็นโรค และยังปล่อยให้อยู่ใกล้ชิดกับเด็กคนอื่นๆ อาจทำให้มีอาการติดเชื้อ และทำให้เด็กคนอื่นป่วยเป็นโรคติดต่อกันเป็นจำนวนมาก จนอาจถึงขั้นที่จะต้องมีการปิดสถานรับเลี้ยงเด็กดังกล่าว เพื่อทำการฆ่าเชื้อโรคให้หมดไปก่อนที่จะเปิดให้บริการใหม่ต่อไปได้
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์