ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ตรัง เผยคดีโจรกรรมรถในภาคใต้มีแนวโน้มเพิ่มสูง โดยกลุ่มโจรกรรมรถจักรยานยนต์จะเป็นกลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่ ส่วนกลุ่มที่โจรกรรมรถยนต์จะเป็นกลุ่มจากต่างถิ่น แต่มีขบวนการเชื่อมโยงในพื้นที่ โดยรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมมากที่สุด คือรถยี่ห้ออีซูซุ และโตโยต้า
พล.ต.ต.เขจร ศิริวรรณ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ตรัง เปิดเผยถึงการเกิดเหตุโจรกรรมรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ว่า จากการรายงานในรอบปี 2549 และปี 2550 พบว่า มีสถิติการโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ซึ่งประกอบไปด้วย จังหวัดสงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพิ่มขึ้นสูง และมีแนวโน้มว่าการโจรกรรมรถจะยิ่งเพิ่มขึ้นสูงอีกในปีนี้และในปีต่อๆ ไป
ทั้งนี้ สาเหตุมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาทางสังคม และปัจจัยด้านอื่นๆ โดยรถยนต์ ที่ถูกโจรกรรมมากที่สุด คือ รถยี่ห้ออีซูซุ และยี่ห้อโตโยต้า ตามลำดับ โดยเวลาที่คนร้ายมักจะลงมือก็คือ ช่วงเวลา 20.00-24.00 น. สำหรับรถจักรยานยนต์ที่ถูกโจรกรรมมากที่สุด คือ รถยี่ห้อฮอนด้า ยี่ห้อยามาฮ่า และยี่ห้อซูซุกิ ตามลำดับ โดยเวลาที่คนร้ายมักจะลงมือก็คือ ช่วงเวลา 00.01-04.00 น. ทั้งนี้ สถานที่ที่รถทั้ง 2 ชนิด ถูกโจรกรรมรถส่วนใหญ่จะเป็นที่สาธารณะทั่วไป และที่บ้านตามลำดับ
ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ตรัง เปิดเผยอีกว่า การโจรกรรมรถยนต์ในขณะนี้เป็นปัญหาที่หนักใจที่สุด เพราะเกิดขึ้นทุกเดือน และบางเดือนมีหลายคันโดยยังไม่สามารถหาวิธีการแก้ปัญหาได้ แต่กลุ่มคนร้ายที่โจรกรรมรถยนต์กับรถจักรยานยนต์นั้นเป็นคนละกลุ่มกัน โดยกลุ่มโจรกรรมรถจักรยานยนต์จะเป็นกลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่ ส่วนกลุ่มที่โจรกรรมรถยนต์จะเป็นกลุ่มจากต่างถิ่น แต่มีขบวนการเชื่อมโยงในพื้นที่
สำหรับลักษณะของการก่อเหตุของคนร้ายก็คือ จะใช้วิธีการตระเวนไปทุกพื้นที่ แต่พอเจ้าของรถเผลอก็ลงมือโจรกรรมทันที ทั้งนี้ หลังจากคนร้ายได้รถยนต์ไปแล้วจะพาเข้าไปในเขตพื้นที่จังหวัดพัทลุงและจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งทางตนก็ได้ประสานกับท้องที่ในการติดตามตัวแล้ว แต่คงต้องใช้เวลา เพราะน่าจะเป็นขบวนการที่ใหญ่และมีอิทธิพลพอสมควร
ส่วนปัญหาการชิงทรัพย์ และวิ่งราวทรัพย์ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากเช่นกันนั้น พล.ต.ต.เขจร เปิดเผยว่า ได้แบ่งคนร้ายออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่กระชากกระเป๋า ซึ่งจะเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่ขึ้นมาใหม่และเป็นกลุ่มวัยรุ่นในเมือง กับกลุ่มที่ถูกจับกุมติดคุกไปแล้ว แต่อยู่ในคุกได้ไม่นานก็ออกมา จากนั้นจะไปก่อเหตุใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ก่อคดีงัดแงะตามบ้านเรือน เช่น บางคดีถูกพิพากษาให้จำคุก 2 ปี แต่อยู่ได้ประมาณ 1 ปีก็ออกมาแล้ว แนวทางแก้ปัญหาคือ สั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปคอยเฝ้าติดตามพฤติกรรม
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสังคมที่เกิดจากกลุ่มวัยรุ่นในขณะนี้ เท่าที่ตนวิเคราะห์พบว่า เป็นปัญหาสั่งสมมาประมาณ 5-6 ปีแล้ว อันเนื่องมาจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทั้งอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ ที่สำคัญทางพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ค่อยเอาใจใส่ และควบคุมดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด รวมทั้งทางสถาบันการศึกษาต่างๆ ด้วย เยาวชนจำนวนมากจึงเดินทางผิด และสร้างปัญหาให้กับสังคมอยู่ตลอดเวลา
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์