แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ในแถบ อันดามัน ( ภูเก็ต, กระบี่, ระนอง, ตรัง, พังงา, สตูล )

ตรัง, วิกฤตค่าเงินทำยอดส่งออกไม้ยางตรังลด 20% ( ข่าวตรัง )

ข่าวตรัง : วิกฤตค่าเงินทำยอดส่งออกไม้ยางตรังลด 20%

กลุ่มบริษัท วู๊ดเวอร์ค จำกัด ธุรกิจส่งออกยางพารารายใหญ่ของตรัง เผย วิกฤตค่าเงินบาททำยอดส่งออกไม้ยางโรงงานในจังหวัดตรังลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เกษตรกรชาวสวนยางต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งเข้าขั้นวิกฤต
      
นางสาว วิลดา สุพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาด กลุ่มบริษัท วู๊ดเวอร์ค จำกัด ธุรกิจส่งออกยางพารารายใหญ่ของจังหวัดตรัง เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวในขณะนี้ ว่า ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าหลายชนิด รวมทั้งธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออก และการแปรรูปไม้ยางพารา ประกอบกับ ค่าเงินบาท ในขณะนี้ยังคงแข็งตัวอยู่ที่ 35.17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ยิ่งทำให้บริษัทประสบกับปัญหาด้านการส่งออก เนื่องจากต้องมีภาระในค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลให้ยอดการจำหน่ายสินค้าลดลงประมาณร้อยละ 20
      
นางสาว วิลดา เปิดเผยอีกว่า สำหรับภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของจังหวัดตรังในขณะนี้นั้น ยังไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในกลุ่มบริษัทมากนัก แต่กลับเกิดผลดีในด้านของการขนย้ายไม้ยางพารา ที่เกษตรกรบางส่วนจะได้ขายไม้ยางพาราหลังฤดูปิดกรีด เนื่องจากต้นยางพารามีอายุมากแล้ว
      
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า ตลาดไม้ยางพารายังคงเป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อนำไปแปรรูปผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในทวีปเอเชียและทวีปยุโรป
      
ภัยแล้งคุกคามชาวสวนยางซ้ำ
      
ด้าน นายสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง กล่าวถึงภาวะภัยแล้งที่เริ่มเกิดขึ้นมาแล้ว ตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2550 ที่ผ่านมานั้น ว่า ทำให้ประชาชนรวมถึงเกษตรกรได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากภาวะภัยแล้งในปีนี้ได้เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติ จนส่งผลกระทบต่ออาชีพของเกษตรกรเป็นอย่างมาก
      
โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวเกษตรกรสวนยางพารา เนื่องจากต้นยางพาราได้ผลัดใบเร็วกว่าปกติ จึงทำให้เกษตรกร ไม่สามารถกรีดยางพาราได้ ดังนั้น เกษตรกรจึงขาดแคลนรายได้ และต้องหันไปประกอบอาชีพอื่นทดแทน ซึ่งส่วนใหญ่จะออกมาทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อหารายได้ เลี้ยงครอบครัว
      
ประธานหอการค้าจังหวัดตรัง กล่าวอีกว่า สำหรับปริมาณยางพาราที่เริ่มมีปริมาณลดลงนั้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องรับซื้อยางพาราในราคาที่สูงขึ้น เนื่องจากปริมาณยางพาราที่มีอยู่ในโกดังเหลือน้อยกว่าความต้องการของตลาด จึงทำให้ต้อง ประสบกับปัญหาด้านวัตถุดิบ ที่จะป้อนให้กับโรงงานยางพารา
      
ดังนั้น เกษตรกรชาวสวนยางพาราเองก็ควรประหยัดค่าใช้จ่าย ด้วยการจับจ่ายซื้อหาสินค้าเท่าที่จำเป็น เท่านั้น และไม่ควรเกินความจำเป็น เพราะอาจจะทำให้ประสบปัญหาด้านการเงินได้ในระยะนี้

ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215