นักลงทุนรายใหญ่ ในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเมืองตรัง เชื่อเกษตรกรในพื้นที่จะหันมาปลูกปาล์มมากขึ้น เพราะมีอนาคตดีกว่า ยกกระแสพระราชดำรัสในหลวงระบุชัด นำไปทดแทนพลังงานน้ำมันที่กำลังจะหมดโลกได้ ขณะที่ยางพารามีความไม่แน่นอนในเรื่องราคา
นายมานิต วงษ์สุรีรัตน์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง และกรรมการผู้จัดการบริษัทตรังน้ำมันปาล์ม จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันการปลูกปาล์มน้ำมันเป็นระบบมากขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ผู้ที่ปลูกปาล์มน้ำมัน จะต้องปลูกในจำนวนที่มากๆ ถึงจะคุ้มค่า แต่ปัจจุบันเกษตรกรที่มีเนื้อที่เพียง 5-10 ไร่ก็สามารถปลูกได้แล้ว เนื่องจากขั้นตอนการจำหน่ายไม่ยุ่งยาก
นายมานิต กล่าวว่า หากประชาชนได้รับฟังกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องไบโอดีเซล ก็น่าจะทราบถึงอนาคตของปาล์มน้ำมัน ที่สามารถนำไปทำเป็นพลังงานทดแทนได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม พื้นที่ของการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันของ จ.ตรัง ยังน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่เกษตรกรได้ปลูกยางพาราไปเกือบหมดแล้ว
นายมานิต กล่าวอีกว่า ตนคือผู้ที่จุดประกายการปลูกปาล์มน้ำมันใน จ.ตรัง และกว่า 10 ปีแล้วที่ตนพยายามชี้ให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา หันมาปลูกปาล์มน้ำมันทดแทนกันให้มากขึ้น เนื่องจากอนาคตการปลูกยางพารานั้นมีราคาไม่แน่นอน แต่ดูเหมือนว่าความถนัดในการปลูกยางพาราของชาวตรังจะมีมากกว่า และมีการปลูกกันมาอย่างยาวนานแล้วด้วย
“ในช่วงก่อนหน้านี้จึงทำให้ยังมีผู้สนใจปลูกปาล์มน้ำมันไม่มากนัก แต่วันนี้กระแสของพลังงานทดแทน อันเนื่องมาจากน้ำมันที่กำลังจะหมดไปนั้น น่าจะทำให้เกษตรกรชาวตรังที่เคยปลูกยางพาราหันมาสนใจปลูกปาล์มน้ำมันกันมากขึ้น” นายมานิตกล่าวและว่า
เมื่อดูถึงเรื่องของรายได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจทั้ง 2 ชนิดแล้ว ตนเห็นว่าน่าจะพอๆกัน ทั้งการปลูกปาล์มน้ำมันและการปลูกยางพารา แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การทำงานของการปลูกปาล์มน้ำมันนั้น จะเป็นลักษณะผูกพันกันของเจ้าของสวนกับลูกจ้าง ในขณะที่การปลูกยางพารา เจ้าของสวนจะมีบทบาทแค่ไปเก็บเกี่ยวผลผลิตเท่านั้น
“เรื่องนี้ไทยเราต่างไปจากประเทศมาเลเซีย ที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันมายาวนานกว่า 60 ปีแล้ว โดยผู้ที่เริ่มต้นนำมาก็คือชาวอังกฤษ ส่วนในประเทศไทยในช่วงแรกนั้นก็เริ่มมีการปลูกกันที่ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ แล้วต่อมาก็ค่อยๆ มีการขยายออกมายังพื้นที่ข้างเคียง รวมทั้งใน จ.ตรังอย่างปัจจุบัน” นายมานิตกล่าวในที่สุด
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์