พัฒนาการจังหวัดตรังขานรับนโยบาย “อยู่ดี กินดี” เพื่อขับเคลื่อนให้ทุกชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามยุทธศาสตร์หลัก 5 ด้าน โดยการยกระดับสินค้าโอทอปให้ได้มาตรฐานระดับสากล ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 388 ผลิตภัณฑ์
นายผิน แก้วประเทือง พัฒนาการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ตนจะเพิ่มความเข้มข้นในการทำงานให้มากขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาสินค้าโอทอปของจังหวัดตรังให้ก้าวสู่ ระดับสากล โดยในปี 2550 นี้ ได้รับนโยบายมาจากรัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทย กำหนดนโยบายว่า “อยู่ดี กินดี” เพื่อขับเคลื่อนให้ทุกชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตามยุทธศาสตร์หลัก 5 ด้าน ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียง ยุทธศาสตร์ การสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชน ยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ยุทธศาสตร์ผลิตภัณฑ์ชุมชน และยุทธศาสตร์การบริการประชาชน
พัฒนาการจังหวัดตรัง กล่าวอีกว่า ยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ด้านดังกล่าว ทางพัฒนา ชุมชนได้รับมอบหมาย ให้รับผิดชอบ 2 ยุทธศาศตร์ คือ ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียง และยุทธศาสตร์ผลิตภัณฑ์ชุมชน สำหรับยุทธศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียง ได้ดำเนินการลงพื้นที่ปฏิบัติจริงในทุกตำบล พร้อมกับสร้างตำบลต้นแบบเพื่อให้ตำบลต่างๆ นำไปเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติ
ในเบื้องต้นจะลงไปดำเนินการสำรวจชุมชน เพื่อรับทราบถึงข้อมูลปัญหาต่างๆ และจะนำเสนอพร้อมกับหาแนวทางแก้ไข โดยยึดหลักการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ รวมทั้งการประหยัดและการเอื้ออารี
ทั้งนี้ ในส่วนของยุทธศาสตร์ผลิตภัณฑ์ชุมชน จะดำเนินการโดยการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าโอทอปของจังหวัดตรังให้ก้าวไปสู่ระดับสากลต่อไป
สำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือสินค้าโอทอปของจังหวัดตรัง ปัจจุบันมีทั้งหมด 388 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งแยกออกเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม จำนวน 247 กลุ่ม ผลิตภัณฑ์ SME จำนวน 130 กลุ่ม และผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน จำนวน 11 กลุ่ม โดยในปี 2549 มียอดการจำหน่ายสินค้าโอทอป จำนวน 472 ล้านบาท ส่วนในปี 2550 นี้ ได้ตั้งเป้ายอด การจำหน่ายไว้ที่ 488 ล้านบาท
นายทวี จันทร์สกุล อุตสาหกรรมจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2550 ทาง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ได้เปิดให้บริการการขอรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้แก่ผลิตภัณฑ์ชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งในขณะนี้สามารถขอรับการรับรองได้แล้วกว่า 1,300 มาตรฐาน จึงอยากขอให้ผู้ผลิตสินค้าชุมชนและท้องถิ่นผู้ผลิตสินค้า OTOP วิสาหกิจขนาดย่อม และผู้ผลิต ที่ใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนหมดอายุ ให้มาดำเนินการขอรับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้ได้รับการรับรองและแสดงเครื่องหมาย
นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์ ให้เป็นที่ยอมรับและสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค โดยมุ่งเน้นให้ผู้ผลิตมีการพัฒนาสินค้าแบบยั่งยืน และยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน ให้เป็นไปตามมาตรฐานทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
ผู้ผลิตสามารถขอแบบฟอร์มคำขอและยื่นคำขอ พร้อมนำเอกสารประกอบคำขอ จำนวน 2 ชุด มายื่นการขอรับการรับการรองได้ที่ฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ถนนพระราม 6 ตำบลทับเที่ยง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์