เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด และชาวบ้านยังคงรวมตัวประท้วงหน้าศาลากลางจังหวัดตรังต่อ หลังจากที่ไม่สามารถหาข้อยุติจากการเจรจาได้ ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดระบุไม่มีอำนาจย้ายข้าราชการตามเงื่อนไขของชาวบ้าน จึงยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด และชาวบ้านจากพื้นที่อำเภอ ปะเหลียน อำเภอรัษฎา อำเภอนาโยง ของจังหวัดตรัง และจากจังหวัดพัทลุง บางส่วนกว่า 500 คน ได้เดินทางมารวมตัวกันชุมนุมประท้วงที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดตรังหลังใหม่ เพื่อมาทวงข้อตกลงเกี่ยวกับปัญหาที่ทำกินที่ทับซ้อนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์เทือกเขาบรรทัด และเขตอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า นับตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 25 มกราคม 2550 เป็นต้นมาแล้วนั้น
ล่าสุด วันนี้ (26 ม.ค.) ทางกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนประมาณ 100 คน ยังคงปักหลักอยู่ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดตรังหลังใหม่ เพื่อรอคำตอบในการแก้ปัญหานี้ทางทางฝ่ายราชการ โดยได้มีการนำเต็นท์ 3 หลัง มาตั้งติดต่อกันเพื่อให้กลุ่มชาวบ้านใช้เป็นที่พักผ่อนหลับนอนและหุงหาอาหารรับประทานกัน ขณะเดียวกัน มีแกนนำสลับกันเปิดเวทีผ่านเครื่องขยายเสียงเพื่อโจมตีการทำงานของฝ่ายราชการที่ไม่สนใจแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
นายอานนท์ มนัสวานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางจังหวัดตรังได้พยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไข 3 ข้อ ที่เคยตกลงไว้ เมื่อวันที่ 18 มกราคม รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้กลุ่มชาวบ้านได้ส่งตัวแทน จำนวน 20 คน มาเข้าร่วมในการหารือเพื่อหาข้อสรุปแก้ปัญหานี้กับฝ่ายราชการ ซึ่งนำโดยนายเฉลิมศักดิ์ วาณิชสมบัติ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายสุเทพ โกมลภมร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง และตนเอง แต่ปรากฏว่า ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้
ทั้งนี้ เนื่องจากทางกลุ่มชาวบ้านได้ยื่นเงื่อนไขเพิ่มขึ้นอีก 1 ข้อ คือ ให้ย้าย นายสนิท องศารา หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด และนายคมชัย ภัคดี หัวหน้าหน่วยโตนเต๊ะ ออกไปนอกพื้นที่ภายใน 24 ชั่งโมง โดยอ้างว่า เนื่องจากได้มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้บางคนละเมิดข้อตกลงที่เคยทำไว้ ด้วยการไปทำ การจับกุมชาวบ้านในตระ หมู่ที่ 2 ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง แต่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ระบุว่า ไม่สามารถรับเงื่อนไขในข้อนี้ได้ และขอให้รอผลการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ที่จะแล้วเสร็จภายใน 7 วันนี้เสียก่อน
นายอานนท์ กล่าวว่า ถ้าปัญหานี้เกิดมาจากข้าราชการ ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และหากตนเองมีอำนาจในการดำเนินการได้ คงให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทั้ง 2 คน ย้ายไปปฎิบัติหน้าที่ที่อื่นเป็นการชั่วคราวก่อน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งกับกลุ่มชาวบ้าน ในช่วงที่รอผลการตั้งคณะกรรมการสอบสวน แถมขณะนี้ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็ยังเดินทางกลับกรุงเทพฯ ไปแล้วด้วย ทำให้ทางกลุ่มชาวบ้านยังคงไม่พอใจ และขอปักหลักอยู่ต่อไปจนกว่าจะได้รับคำตอบ ซึ่งสร้างความหนักใจให้กับทางจังหวัดตรัง เพราะไม่สามารถที่ดำเนินการใดๆ ต่อไปได้
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์