ตรัง, พบซากพะยูนติดเบ็ดชาวประมงตายที่เกาะลิบง ( ข่าวตรัง )
ปลาพะยูน เกาะลิบง ติดเบ็ดราวของชาวประมงจนไม่สามารถขึ้นมาหายใจเหนือน้ำได้ เสียชีวิตไปอีก 1 ตัว นายอำเภอสั่งการให้สอบสวนสาเหตุการตายอย่างละเอียด
เมื่อเวลา 11.30 น.วันนี้ (12 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดตรัง ได้รับแจ้งจาก นายสมคิด พ่วงมุลี สมาชิกชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง และเป็นประธานชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน หมู่ที่ 6 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ว่า นายดล หมาดเด็น อายุ 37 ปี อยู่บ้านเลขที่ 39/1 หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง ซึ่งมีอาชีพเป็นชาวประมงพื้นบ้าน และมีอาชีพขับเรือรับส่งนักท่องเที่ยว ที่เดินทางไปยังตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง ได้พบซากพะยูนที่เสียชีวิตแล้วลอยน้ำอยู่ ที่บริเวณชายหาดบ้านพร้าว หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะลิบง เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น.วันนี้
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบ พบว่า มีเบ็ดราวไว หรือเบ็ดราวเบน ซึ่งเป็นเครื่องมือดักจับปลากระเบน ที่ชาวประมงพื้นบ้านจะนำมาวางไว้ เพื่อจับปลากระเบน แต่บังเอิญได้เกี่ยวเข้าที่บริเวณแก้มของพะยูนทั้ง 2 ข้าง จนทำให้เกิดเป็นแผลลึก ประมาณ 2-3 นิ้ว และส่งผลให้พะยูนตัวดังกล่าวจมน้ำ จนขาดอากาศหายใจ และตายไปในที่สุด
โดยพะยูนตัวดังกล่าวนั้น เป็นเพศเมีย มีอายุประมาณ 2 ปี มีน้ำหนัก ประมาณ 90-100 กิโลกรัม และยาวประมาณ 1.8-2.0 เมตร นายสมคิด กล่าวว่า สำหรับบริเวณที่พบซากพะยูนตัวนี้ เป็นแนวเขตที่มีหญ้าทะเล อยู่อย่างหนาแน่น ดังนั้น จึงคาดว่า พะยูนคงจะเข้ามากินหญ้าทะเล จนถูกเบ็ดเกี่ยว และเป็นเหตุให้ต้องตายลงในที่สุด เนื่องจากโดยพฤติกรรมทั่วไปของพะยูนนั้นจะต้องขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำทุกๆ 15 นาที แต่เมื่อถูกเบ็ดใต้ท้องทะเล เกี่ยวเข้า จึงไม่สามารถขึ้นมาหายใจได้ตามปกติ
อย่างไรก็ตาม ตนได้มีการประสานไปยัง นางสาวกาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการประมง 8 สถาบันวิจัยและพัฒนา ทรัพยากรชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน จังหวัดภูเก็ต เพื่อนำซากพะยูนตัวดังกล่าวไป ทำการตรวจสอบและหาสาเหตุการตายที่แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง
ต่อมา นายเสรี พาณิชย์กุล นายอำเภอสิเกา พร้อมด้วย นายเฉลิมชัย ชูเมือง ปลัดอาวุโสอำเภอสิเกา และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางมาดูซากพะยูนตัวดังกล่าว แล้วสั่งการให้เจ้าหน้าที่ประสานไปยังทางอำเภอกันตัง เพื่อลงไปตรวจสอบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นมาจากสาเหตุใดกันแน่ เพื่อจะได้หามาตรการแก้ไขร่วมกันในระยะยาวต่อไป เพราะพะยูนในจังหวัดตรังนั้น ถือได้ว่ามีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย แต่ก็ยังเกิดปัญหาพะยูนตายอยู่บ้างประปราย โดยในช่วงปี 2549 มีพะยูนตายไป 2 ตัว ดังนั้น พะยูนที่ตายลงล่าสุดนั้น จึงถือเป็นพะยูนตัวที่ 3 ที่ต้องตายลงไปในรอบ 2 ปีเศษ
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์