ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ในแถบ อันดามัน ( ภูเก็ต, กระบี่, ระนอง, ตรัง, พังงา, สตูล )
ตรัง, เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคตรังพบน้ำดื่มปนเปื้อน - สสจ.เต้นตอกกลับ ?สื่อ ? เอ็นจีโอ? รู้ไม่จริง ( ข่าวตรัง )
เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคตรัง ร่วมกับหลายหน่วยงานทดสอบคุณภาพน้ำดื่มที่บรรจุขวดวางขายทั่วไป ต่อหน้าประชาชนจำนวนมาก พบหลายยี่ห้อด้อยคุณภาพ และมีสารปนเปื้อน สาธารณสุขจังหวัดเต้นตอกกลับสื่อและเอ็นจีโอ รู้ไม่จริง อัดกลับพวกที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อหวังผลประโยชน์
วันนี้ (14 พ.ค.) นายชัยพร จันทร์หอม คณะทำงานร่าง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ และอดีตข้าราชการสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ให้สัมภาษณ์กรณีที่ พระสมพร อัตตะมะโน เจ้าสำนักอบรมจริยธรรมควนสงฆ์ ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลนาโยงใต้ อำเภอเมืองตรัง ได้ร่วมกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดตรัง สื่อมวลชน และประชาชนจำนวนหนึ่ง นำน้ำดื่มแบบบรรจุขวดที่วางจำหน่ายกันทั่วไปมาทำการทดสอบแล้ว ปรากฏว่า พบสารปนเปื้อนในปริมาณที่สูงมาก ว่า ตนก็เป็นผู้หนึ่งที่ไปร่วมทดสอบ เพราะอยากรู้ว่าน้ำดื่มที่เราดื่มกินกันในชีวิตประจำวันนั้น มีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากก่อนหน้านั้น พระสมพร เองก็มีอาการอาพาธ และหมอแจ้งว่าเป็นโรคเกี่ยวกับไตอันเนื่องมาจากน้ำดื่ม
สำหรับขั้นตอนการทดสอบนั้น พระสมพร ได้ใช้น้ำดื่มแบบบรรจุขวดหลายยี่ห้อทั้งที่ผลิตในจังหวัดและมาจากต่างจังหวัด ส่วนน้ำยาและเครื่องมือที่ใช้ทดสอบนั้น ตนได้สอบถามพระสมพร ว่า เป็นเครื่องมือที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพเพียงใด ซึ่ง พระสมพร บอกว่า น้ำยาได้รับมาจากหน่วยงาน ส่วนเครื่องมือได้สั่งซื้อมาจากประเทศอเมริกา จากนั้นก็ทำการทดสอบใน 3 วิธีการ
เช่น การใช้น้ำยาเคมีหยดลงไปในน้ำตัวอย่าง เพื่อดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น การใช้เครื่องมือวัดค่า PH ของน้ำตัวอย่าง และการใช้เครื่องฮีสเตอร์ใส่ลงไปในน้ำตัวอย่าง เพื่อตีน้ำให้จับตัวเป็นแผ่นสีน้ำตาลแดง ทั้งนี้ ในการวัดค่าของน้ำด้วยปรอท พบว่า มีน้ำตัวอย่างหลายแก้วที่มีตัวเลขสูงมาก และน้ำจะเปลี่ยนเป็นสีขุ่น สีสนิม สีกาแฟ หรือสีแดง
นายชัยพร กล่าวต่อว่า เมื่อผลการทดสอบต่อหน้าผู้คนจำนวนมากออกมาเช่นนี้ จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นว่า มีอะไรอยู่ในน้ำดื่ม จะส่งผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะว่าอย่างไร โดยเฉพาะพระสมพร ได้หันมาถามตน ในฐานะที่เคยทำงานที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ว่า เราคงต้องตั้งหลักที่ตัวเองก่อน และจะต้องรู้จักเลือกซื้อน้ำมาดื่มกิน หรือหากเป็นน้ำจากบ่อน้ำตื้นก็ควรต้มก่อนที่จะนำมาดื่ม
ส่วนการรับรองคุณภาพน้ำดื่มนั้น ปัญหามีอยู่ว่า หลังจากได้รับเครื่องหมายแล้ว ผู้ผลิตจะรักษาคุณภาพได้ต่อเนื่องและยาวนานแค่ไหน ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่รับผิดชอบเอง ก็ได้ติดตามดูแล ตรวจสอบ และกำกับ ผู้ประกอบการเพียงใด
ส่วนกรณีที่มีการกล่าวหาว่า พวกตนเป็นเอ็นจีโอ และออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ เพราะมีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลังนั้น นายชัยพร กล่าวว่า คนที่คิดแบบนี้ก็เท่ากับเป็นการแบ่งขั้ว โดยไม่สนใจว่าสิ่งที่กลุ่มประชาชนพยายามกระทำนั้นเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะคิดในแง่ดี และควรดีใจที่ประชาชนตื่นตัวรู้จักปกป้องสิทธิตนเอง รวมทั้งควรนำข้อมูลนี้ไปเปิดวงพูดคุยกัน
แต่หากไม่เชื่อในผลการทดสอบ ก็สามารถดำเนินการใหม่ได้ โดยหน่วยงานสาธารณสุข ร่วมกับนักวิชาการในห้องแล็บ หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ หากผลออกมาเชื่อถือไม่ได้ก็จะได้บอกประชาชนไปว่าเพราะอะไร แต่หากผลออกมาเป็นจริงก็จะได้หาทางแก้ไขต่อไป มิใช่มัวแต่ออกมาปฏิเสธท่าเดียว
อย่างไรก็ตาม เมื่อสื่อมวลชนได้สอบถามเรื่องนี้ไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ปรากฏว่า ได้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้บริหารที่รับผิดชอบ โดย นายแพทย์วิรัช เกียรติเมธา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง ให้สัมภาษณ์ตอบโต้ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว ว่า สื่อมวลชนมีการเสนอข่าวนี้โดยไม่มีมูลความจริง และไม่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง จนทำให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงานเป็นอย่างมาก และผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ก็เป็นกลุ่ม เอ็นจีโอที่ดำเนินการไปเพื่อหวังผลประโยชน์
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์