จังหวัดตรัง จ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม เมื่อปลายปี 2548 เป็นเงินกว่า 8 ล้านบาท โดยในส่วนของผู้ที่เสียชีวิตนั้น ธ.ก.ส.ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะทำการจำหน่ายออกจากบัญชีลูกหนี้
นายชูศักดิ์ เด่นยุกต์ ปลัดอาวุโสอำเภอเมืองตรัง กล่าวว่า ได้มีการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย เมื่อปี 2548 ทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านพืชสวน ด้านปศุสัตว์ และด้านประมง ซึ่งได้รับความเดือดร้อน และได้รับความเสียหาย รวม 15 ตำบล 2,440 ครัวเรือน ซึ่งทางอำเภอเมืองตรัง ได้ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ออกไปสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อขอรับความช่วยเหลือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,570,072.50 บาท
นายเชิดพันธ์ ณ สงขลา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ได้ไปจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 6 ตำบล รวมความเสียหายเป็นเงิน 1,615,282.25 บาท ส่วน นายยงยุทธ สุวรรณฤกษ์ เกษตรจังหวัดตรัง ได้ไปจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 3 ตำบล รวมความเสียหายเป็นเงิน 1,026,992 บาท นายธวัช อุดมคณารัตน์ ปศุสัตว์จังหวัดตรัง ได้ไปจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 3 ตำบล รวมความเสียหายเป็นเงิน 2,306,020 บาท
จากนั้น นายสุริยะ วิฑูรย์พันธ์ ประมงจังหวัดตรัง ได้ไปจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 2 ตำบล รวมความเสียหายเป็นเงิน 1,940,844.50 บาท นายอุทัย หนูวาด ผู้อำนวยการ ธกส.ตรัง ได้ไปจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 2 ตำบล รวมความเสียหายเป็นเงิน 1,680,933.75 บาท
ด้าน นายประดิษฐ์ เชื้อพราหมณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานธนาคารเกษตรและ
สหกรณ์การเกษตร จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า สำนักงานธนาคารเกษตรและสหกรณ์การ
เกษตร จังหวัดตรัง ได้มีมติเห็นชอบให้ช่วยเหลือเกษตรกร ลูกค้าที่ประสบภัยน้ำท่วม ปี 2549 โดยการให้ความช่วยเหลือ 2 กรณี คือ กรณีเกษตรกรลูกค้าเสียชีวิต ทาง ธ.ก.ส.จะมีการจำหน่ายลูกหนี้ออกจากบัญชี ซึ่งถือเป็นหนี้สูญ โดย ธ.ก.ส.จะรับภาระเอง
ส่วนอีกกรณีขณะที่เกษตรกรลูกค้าประสบภัยอย่างร้ายแรง และไม่เสียชีวิต
ธ.ก.ส.จะพิจารณาหนี้เงินกู้เดิม ที่มีอยู่ก่อนประสบภัย และจะขยายเวลาการชำระหนี้เงินกู้
ออกเป็นเวลา 3 ปี และงดการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ในระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่บัญชี 2549 ? 2551 โดย ธ.ก.ส.จะของชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาล ในอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี ลบ 1 (MRR-1) ซึ่งขณะนี้มีอัตราถึงร้อยละ 6.5 ต่อปี
นายประดิษฐ์ กล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าวจะมีการจัดให้กู้ใหม่เพิ่มเติมเพื่อช่วยฟื้นฟูการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้เงินกู้รายละไม่เกิน 30,000 บาท และมีการลดดอกเบี้ยเงินกู้จากอัตราปกติ ที่ธนาคารเรียกเก็บจากเกษตรกรลูกค้าร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี พร้อมกำหนดชำระหนี้เงินกู้ตามความสามารถของเกษตรกรลูกค้า โดยในการให้เงินกู้ใหม่นั้นจะมีการลดหย่อนหลักประกันการกู้เงินจากหลักเกณฑ์ปกติด้วย
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์