แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ในแถบ อันดามัน ( ภูเก็ต, กระบี่, ระนอง, ตรัง, พังงา, สตูล )

ตรัง, พบ ?อนุสาวรีย์จิ๋วที่สุดในโลก? หลังคนตรังลืมนับสิบปี ( ข่าวตรัง )

พบรูปปั้นจำลองของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ อนุสาวรีย์จิ๋วที่สุดในโลก ตั้งอยู่บนเขาพับผ้า ในเขตเทือกเขาบรรทัด ซึ่งเป็นอดีตเจ้าเมืองตรัง และเป็นผู้ที่นำต้นยางพารามาปลูกที่จังหวัดตรัง ทำด้วยโลหะและมีความสูงเพียง 43 เซนติเมตร สร้างสมัย นายผัน จันทรปาน เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง

ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดตรัง ได้รับแจ้งว่า นอกจากอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) ซึ่งตั้งอยู่ตรงบริเวณวงเวียนที่ออกจากตัวเมืองตรัง เพื่อไปยังจังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา ซึ่งคนตรังหรือนักท่องเที่ยวต่างถิ่น จะนิยมไปสักการบูชา ในฐานะเจ้าเมืองตรัง และเป็นผู้ที่นำต้นยางพารามาปลูกที่จังหวัดตรัง เป็นต้นแรกของประเทศไทย แต่จริงๆ แล้วยังมีอนุสาวรีย์อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนเขาพับผ้า ในเขตเทือกเขาบรรทัด ที่หลายคนอาจหลงลืมไปแล้วว่า ณ ที่แห่งนี้ ยังมีรูปปั้นจำลองของพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ประดิษฐานอยู่อีกด้วย

ทั้งนี้ หากใช้เส้นทางที่ออกจากตัวเมืองตรัง มาตามถนนตรัง-พัทลุง เป็นระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร เมื่อเข้าเขตบ้านน้ำราบ ตำบลช่อง อำเภอนาโยง ให้เลี้ยวขวาเข้าไปยังสถานีทดลองยางตรัง (เก่า) แล้วตรงไปตามเส้นทาง ที่อาจจะคดเคี้ยวไปบ้าง แต่ก็เต็มไปด้วยธรรมชาติสองฝั่งข้างทาง ทั้งต้นไม้ และต้นยางพารา ที่อุดมสมบูรณ์

เมื่อขับรถกินลมชมวิวได้ไม่ถึง 6 กิโลเมตร ทางด้านซ้ายมือ ก็จะพบกับอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ที่เรียกได้ว่ามีขนาดจิ๋วที่สุดในโลก ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางธรรมชาติของป่าเขา โดยมีลักษณะรูปปั้นที่ทำด้วยโลหะ และมีความสูงเพียง 43 เซนติเมตร หรือประมาณ 1 ฟุตเศษๆ เท่านั้น

นายอ้อม ศรีแก้ว อายุ 62 ปี อดีตกำนันตำบลช่อง หนึ่งในผู้ที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างอนุสาวรีย์จิ๋วแห่งนี้ เล่าว่า ได้ดำเนินการขึ้นเมื่อปี 2531-2532 โดยมี นายผัน จันทรปาน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง สมัยนั้น เป็นผู้ริเริ่ม เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ในอดีตเป็นสถานีทดลองยาง ที่ใช้สำหรับผลิตพันธุ์ยางพารา เพื่อนำไปแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้าน

ดังนั้น เพื่อเป็นเกียรติแด่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ เจ้าเมือง ที่นำต้นยางพาราต้นแรกมาปลูกยังจังหวัดตรัง จึงได้ตัดสินใจเลือกสถานที่แห่งนี้ก่อสร้างอนุสาวรีย์ขึ้น

?อดีตตรงนี้เป็นเส้นทางผ่านระหว่างตรัง-พัทลุง จึงเป็นความตั้งใจของผู้ว่าฯ ผัน และมีแนวคิดที่จะสร้างอนุสาวรีย์ที่มีขนาดเล็กที่สุด เพื่อให้ผู้คนที่ใช้ถนนผ่านไปมาทั้ง 2 จังหวัด ได้สักการะบูชา พร้อมกับปลูกแปลงยางพาราไว้ฝั่งตรงกันข้ามกับอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่เมื่อก่อสร้างเสร็จได้เพียงไม่กี่ปี ถนนสายนี้ก็ถูกปิด รถทุกคันก็หันไปใช้ถนนสายใหม่กันหมด จึงทำให้ผู้คนหลงลืมอนุสาวรีย์แห่งนี้ ส่วนตัวจึงรู้สึกเสียดายเหมือนกัน ที่ไม่มีใครสานต่อ หรือปรับปรุงให้เป็น 1 ในสถานที่ท่องเที่ยว? นายอ้อม กล่าว

เมื่อปี 2541 สมัยที่นายเฉลิมชัย ปรีชานนท์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เคยมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปปรับปรุงอนุสาวรีย์แห่งนี้ พร้อมกับประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนภายนอกได้รับรู้ ในฐานะที่เป็นอนุสาวรีย์ที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก เพราะตั้งแต่ประกาศออกไป ก็ยังไม่มีที่ใดโต้แย้งกลับมาเลย นอกจากนั้น ในบริเวณดังกล่าว ก็ยังเหมาะสำหรับการชมวิวด้วย เนื่องจากตลอดระยะทางที่เดินทางเข้ามา จะผ่านภูเขาและห้วยลำธารที่สวยงาม รวมไปถึงศาลาที่เคยใช้รับเสด็จฯ พระเจ้าแผ่นดินบางพระองค์

แต่ความไม่ต่อเนื่อง บวกกับการโยกย้ายของผู้ว่าฯ เฉลิมชัย จึงทำให้ความพยายามที่จะผลักดันโครงการในครั้งนั้น ไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร และทำให้อนุสาวรีย์ถูกทิ้งร้างเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

นายจิระ จิตใจภักดิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ช่อง ยอมรับว่า อุปสรรคในเรื่องงบประมาณกับเรื่องกำลังคน ทำให้ อบต.ซึ่งรับมอบพื้นที่ 150 ไร่ จากสำนักงานธนารักษ์ท้องที่จังหวัดตรัง มาเมื่อเร็วๆ นี้ ไม่สามารถดูแลบริเวณพื้นที่ทั้งหมดอย่างทั่วถึง ทำได้เพียงแค่การปรับปรุงภูมิทัศน์เล็กๆ น้อยๆ รอบอนุสาวรีย์องค์จำลองขนาดจิ๋วเท่านั้น

ขณะเดียวกันพื้นที่บางส่วนในสถานีทดลองยาง อบต.ก็ได้ปล่อยให้ชาวบ้านเข้ามาเช่าที่ โดยเก็บรายได้เป็นรายปี คงไม่มีงบประมาณเพียงพอ ที่จะฟื้นอนุสาวรีย์แห่งนี้ ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบได้

?ในอดีตเคยมีแนวคิดหลายอย่างที่จะทำ ทั้งโครงการจัดตั้งบ้านพักคนชรา โครงการพิพิธภัณฑ์การยาง หรือโครงการสโมสรคนอยู่ป่า แต่พอผู้ว่าฯ เฉลิมชัยถูกโยกย้ายไป โครงการต่างๆ ก็ไม่มีใครสานต่อ และหากงบประมาณใดลงทุนแล้ว ไม่เกิดประโยชน์ชัดเจน จังหวัดก็จะขอเลื่อนออกไปก่อน อีกทั้งงบประมาณส่วนใหญ่ที่มี ก็ไปมุ่งเน้นการท่องเที่ยวทางทะเล และตามถ้ำตามเขาเป็นหลัก? นายก อบต.ช่อง กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากมองให้ลึกถึงความเป็นเอกลักษณ์แล้ว ทั้งอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ ที่มีขนาดจิ๋วที่สุดในโลก ทั้งมีทิวทัศน์ธรรมชาติอันสวยสดงดงาม ทั้งเป็นที่ตั้งของจุดเพาะพันธุ์ยางพาราแห่งแรกของจังหวัดตรัง และเป็นที่ตั้งของโครงการชลประทานขนาดเล็ก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ย่อมเชื่อได้ว่า ด้วยจุดเด่นเหล่านี้ ถ้าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ปัดฝุ่นโครงการขึ้นมาอย่างจริงๆจังๆ อีกครั้ง เพื่อปรับปรุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดตรัง ก็น่าจะช่วยรองรับการขยายเส้นทาง ตรัง-พัทลุง ให้เป็น 4 เลน รวมไปถึงการจัดสร้างจุดที่พักรถ และตลาดขายของที่ระลึกเพื่อการท่องเที่ยว ดีกว่าจะปล่อยให้ประวัติศาสตร์ และความภาคภูมิใจที่มีต่อเจ้าเมืองตรังเมื่อครั้งอดีต ค่อยๆ เลือนหายไปกับความทรงจำ

ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215