บรรยากาศการทำบุญเดือนสิบเล็กหรือการรับตา ยาย ของชาวไทยพุทธในพื้นที่จังหวัดตรังเป็นไปด้วยความคึกคัก
วันนี้ (8 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวได้ออกสำรวจบรรยากาศการทำบุญตามประเพณีบุญเดือนสิบ หรือที่เรียกกันว่า วันสารทเดือนสิบ ซึ่งถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของชาวไทยปักษ์ใต้ ที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล โดยต่างมีความเชื่อว่า บรรพบุรุษ หรือ ปู่ยา ตายาย ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว จะถูกปล่อยตัวจากยมบาลให้ขึ้นมาพบลูกหลานและญาติพี่น้อง เป็นระยะเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ถึง วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10
โดยการทำบุญครั้งนี้เป็นการทำบุญครั้งแรก หรือการทำบุญย่อย การทำบุญเล็ก ตามแต่จะเรียก ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 ซึ่งตรงกับวันที่ 8 กันยายน 2549 นี้ สำหรับบรรยากาศโดยทั่วไปภายในวัด ทั้งในเขตเทศบาลนครตรัง และต่างอำเภอทุกวัดเป็นไปอย่างคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา
โดยพุทธศาสนิกชนชาวตรังต่างพร้อมใจกันนำอาหารคาวหวานไปร่วมทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลส่งไปให้ปู่ย่าตายาย ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความรักความสามัคคี และความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษหรือปู่ย่าตายาย ผู้ล่วงลับ โดยอาหารคาวหวานที่บุตรหลานนำไปทำบุญในวันนี้นั้น
นอกเหนือจากอาหารแล้ว จะต้องมีขนมลา ขนมพอง ขนมสะบ้า ขนมดีซัม หรือขนมรู และขนมกง ซึ่งเป็นขนมที่มีความเชื่อว่า ขนมทั้ง 5 อย่างนั้น เป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งของเครื่องใช้ที่ผู้ล่วงลับไปแล้ว สามารถนำไปใช้ได้ เช่น ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์แทน แพ ขนมลา เป็นสัญลักษณ์ แทนแพรพรรณ เครื่องนุ่งห่ม ขนมกง เป็นสัญลักษณ์แทน เครื่องประดับ ขนมดีซัม เป็นสัญลักษณ์ แทนเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย และขนมบ้า เป็นสัญลักษณ์แทน ลูกสะบ้า ที่ใช้สำหรับเล่นสะบ้า ในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ของชาวไทย
นอกจากนี้ ยังมีการถวายสังฆทานแด่พระสงฆ์พร้อมกับกรวดน้ำส่งให้แก่บรรพบุรุษ หรือที่เรียกว่า วันรับตายาย ก่อนที่จะมีการทำบุญส่งตายายอีกครั้งในวันที่ 22 กันยายน 2549
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์