ตรัง, ผู้ส่งออกแฉเกษตรกรปลอมปนยาง-จี้รัฐตั้งหน่วยงานสอบก่อนกระทบตลาด ( ข่าวตรัง )
ผู้ส่งออกยางพารา แฉมีเกษตรกรหัวหมอแอบผสมสิ่งแปลกปลอมในน้ำยางดิบ และเศษยาง หวังเพิ่มปริมาณและน้ำหนัก ทำให้สินค้าไม่มีคุณภาพ ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าตีกลับยางพาราจากไทย เตือนหากไม่รีบปรับปรุงจะส่งผลต่อความเชื่อถืออย่างแน่นอน จี้รัฐเร่งตั้งหน่วยงานตรวจสอบก่อนพังทั้งระบบ
นายประสิทธิ์ พาณิชย์กุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางแผ่นรมควันรายใหญ่ของจังหวัดตรัง และของประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้พบเกษตรกรจำนวนมากได้แอบปลอมปนวัสดุ และสิ่งของต่างๆ ลงในน้ำยาง ก่อนนำไปผลิตเป็นยางแผ่นดิบ และเศษยาง
โดยเฉพาะยางแผ่นดิบนั้น จะมีการปลอมปนทั้งแป้งมันสำปะหลัง แร่ยิปซัม หรือทรายละเอียด ขณะที่เศษยางก็จะมีการนำทรายละเอียด เศษดิน แร่ยิปซัม เศษยางจากพื้นรองเท้า หรือถุงมือยาง มาปลอมปนในขั้นตอนการผลิต ทั้งนี้ เพื่อต้องการที่จะเพิ่มน้ำหนัก โดยไม่คิดถึงผลกระทบที่ตามมา
นายประสิทธิ์ เปิดเผยอีกว่า เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ของผู้ประกอบการส่งออกยางพารา เพราะการแข่งขันในตลาดโลกมีสูง เราจึงต้องรักษาคุณภาพของสินค้าให้ดีที่สุด ไม่เช่นนั้นจะทำให้ภาพลักษณ์ด้านการส่งออกยางพารา เกิดความเสียหายในสายตาของประเทศคู่ค้าได้ เพราะประเทศไทยส่งออกยางพาราสูงเป็นอันดับ 1 มีส่วนแบ่งในตลาดกว่า 3 ล้านตันต่อปี รองลงมาคือ ประเทศอินโดนีเซีย ส่งออกประมาณ 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งหากไม่รักษาคุณภาพสินค้าเอาไว้ จะทำให้ประเทศคู่ค้าขาดความเชื่อมั่น อาจหันไปสั่งสินค้าจากประเทศคู่แข่ง อย่างมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย และปัจจุบันนี้ยางพาราของประเทศมาเลเซีย ก็มีราคาถูกกว่าประเทศไทยอยู่แล้ว
นายประสิทธิ์ เปิดเผยด้วยว่า การปลอมปนสิ่งของต่างๆ ลงไปในการผลิตยางแผ่นดิบ และเศษยางพารานั้น มีมานานแล้ว ไม่เฉพาะในจังหวัดตรัง แต่พบทุกจังหวัดในภาคใต้ ภาระหนักจึงต้องตกอยู่กับโรงงานส่งออก ที่จะต้องมีการตรวจสอบเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม เพราะกลัวว่าสินค้าจะเล็ดลอดออกไปยังต่างประเทศ ส่งผลเสียต่อระบบและภาพลักษณ์ ซึ่งบริษัทก็เคยถูกตีกลับสินค้าจากประเทศคู่ค้ามาแล้ว เพียงแต่มีปริมาณไม่มากนัก แม้ปกติบริษัทจะเข้มงวดในการตรวจสอบ แต่ก็ยังมีเล็ดลอดออกไป เนื่องจากยางแผ่นดิบที่รับซื้อมาจากพ่อค้ามีปริมาณมาก ดังนั้น คงไม่สามารถหยิบมาตรวจได้หมดทุกแผ่น นอกจากจะใช้วิธีการสุ่มตรวจเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบในขณะกำลังรับซื้อยางแผ่นดิบจากพ่อค้า บริษัทจะไม่คืนสินค้าให้ และยังจะมีการสั่งปรับ โดยการรับซื้อสินค้าจากพ่อค้ารายนั้น ในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดกิโลกรัมละ 5-6 บาท พร้อมทั้งกำชับให้พยายามตรวจสอบสินค้าให้ละเอียด ซึ่งแม้บริษัทจะได้ประชาสัมพันธ์ ด้วยการพิมพ์โปสเตอร์แจกจ่ายให้แก่พ่อค้า ที่รับซื้อยางแผ่นดิบ และเศษยางให้รับทราบอย่างทั่วถึงแล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด เมื่อเสนอปัญหาดังกล่าว ไปยังศูนย์วิจัยการยาง กรมวิชาการเกษตร เพื่อให้ช่วยหาหนทางแก้ไข แต่ทุกอย่างก็ยังเงียบอยู่
?การปลอมปนยางพาราดังกล่าว ขณะนี้มีผลต่อความรู้สึกเท่านั้น ไม่ได้ทำให้ราคายางพาราลดลงอย่างใด แต่ในอนาคตหากไม่รีบแก้ปัญหา ก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกทั้งระบบแน่นอน?
ด้านนายศุภเดช อ่องสกุล ประธานชมรมพ่อค้ายางจังหวัดตรัง และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเทครับเบอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางอัดแท่งรายใหญ่ เปิดเผยว่า ขณะนี้พบเกษตรกรปลอมปนยางแผ่นดิบ และเศษยาง เป็นจำนวนมากและเป็นมานานแล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่ยางพารามีราคาสูงขึ้น ทั้งนี้ เป็นเพราะเกษตรกรบางราย หวังจะขายให้ได้เงินจำนวนมาก เพราะการปลอมปนดังกล่าวทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ผู้ประกอบการส่งออกจึงต้องมีความเข้มงวด ในการตรวจสอบคุณภาพยางพารา เนื่องจากต้องรับซื้อคราวละมากๆ นับเป็นพันแผ่นจึงยากที่จะตรวจสอบได้อย่างละเอียดทั้งหมด และส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้น
นายศุภเดช เปิดเผยอีกว่า ส่วนการดำเนินการกับพ่อค้าที่นำยางพารามาขาย ขึ้นอยู่กับมาตรการของแต่ละบริษัท อย่างในส่วนของตนหากตรวจพบ ก็จะมีการปรับพ่อค้าราย ครั้งละ 2,000-3,000 บาท แต่นี่เป็นแค่เพียงมาตรการเบื้องต้น เพื่อป้องกันสินค้าที่ไม่มีคุณภาพหลุดรอดไปถึงมือลูกค้า
ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวนั้น อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ รีบเร่งดำเนินการโดยด่วน เพราะจะกระทบต่อการส่งออก และอยากให้เกษตรกรทุกคนตระหนักว่า คุณภาพยางพาราของประเทศไทยต้องมาจากต้นทาง และอยากให้ทุกคนรับผิดชอบร่วมกัน ไม่เช่นนั้นจะทำให้การส่งออกของประเทศไทย เกิดปัญหาในสายตาของต่างประเทศ
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์