ตรัง, ชาวสวนแห่ขายน้ำยางสดจนล้นตลาด-ราคายางลดฮวบ 35 บาท /กิโลฯ ( ข่าวตรัง )
ชาวสวนนิยมขายน้ำยางสดแทนการทำยางแผ่น ส่งผลให้นำยางข้นล้นตลาดและเกิดภาวะราคาตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว
ชาวสวนยางเมืองตรัง เริ่มวิตก ราคายางพาราหล่นวูบภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ โดยลดลงถึง 30-35 บาทต่อกิโล รองประธานสภาอุตฯ ระบุ สาเหตุมาจากชาวสวนแห่ขายน้ำยางสด จนสินค้าล้นตลาด ฉุดราคายางดิ่งทั้งระบบ แนะหันหลับมาทำยางแผ่น หรือเศษยาง เชื่อ ไม่นานสถานการณ์กลับสู่ปกติ
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรัง ว่า ขณะนี้ประชาชนกำลังเริ่มมีความวิตกกังวล เกี่ยวกับราคาของยางพาราที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 เคยมีราคาพุ่งขึ้นสูงจนเกือบจะถึงกิโลกรัมละ 100 บาท แต่เพียงแค่ระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคายางพารากลับลดลงมาเหลือแค่กิโลกรัมละ 65-70 บาท หรือลดลงไปถึงกิโลกรัมละ 30-35 บาท แถมบางครั้งในช่วงแค่เพียงข้ามวัน ราคาของยางพาราก็เปลี่ยนแปลงไปมาก หรือตกลงไปถึงกิโลกรัมละกว่า 10 บาท
ทำให้ชาวตรังซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำสวนยางพารา เกิดความรู้สึกเป็นห่วงในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในด้านต่างๆ กลับพุ่งสูงขึ้นสวนทางกัน โดยเฉพาะในส่วนของราคาน้ำมัน
ทั้งนี้ จากการที่สำนักงานการค้าภายในจังหวัดตรัง ได้ทำการรวบรวมข้อมูลราคายางพาราในช่วงที่ผ่านมา พบว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2549 ยางพาราแผ่นดิบคุณภาพ 3 มีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 98.50 บาท แต่ในขณะนี้กลับเหลือแค่กิโลกรัมละ 68.85 บาท หรือลดไปกิโลกรัมละ 29.92 บาท ส่วนยางพาราแผ่นดิบคุณภาพคละ ซึ่งเคยมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 97.50 บาท แต่ในขณะนี้กลับเหลือแค่กิโลกรัมละ 67.50 บาท หรือลดไปกิโลกรัมละ 30.00 บาท ในขณะที่น้ำยางสด ซึ่งเคยมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 91.00 บาท ขณะนี้กลับเหลือแค่กิโลกรัมละ 56.50 บาท หรือลดไปกิโลกรัมละ 34.50 บาท ส่วนเศษยางพารา ซึ่งเคยมีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 49.00 บาท เหลือแค่กิโลกรัมละ 35.00 บาท หรือลดไปกิโลกรัมละ 14.00 บาท
นายศุภเดช อ่องสกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง กล่าวอธิบายถึงกรณีที่ราคายางพาราลดลงอย่างมาก ในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา ว่า ก่อนหน้านี้ ความเติบโตด้านการตลาดของยางพารามีความต่อเนื่อง จึงทำให้ราคาไต่สูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จึงทำให้มีผู้ประกอบการทำการกักตุนสินค้า
กระทั่งต่อมาเมื่อยางพารามีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง บรรดาพี่น้องเกษตรกรเองก็เห็นว่า ในส่วนของน้ำยางข้นก็มีราคาสูงจนเป็นที่น่าพอใจเช่นเดียวกัน ประกอบกับยังเหนื่อยน้อยกว่าการผลิตยางพาราแผ่นดิบ จึงแห่กันไปจำหน่ายน้ำยางข้นกันเป็นจำนวนมาก แทนที่จะทำการผลิตยางพาราแผ่นดิบเหมือนเช่นเมื่อก่อน ส่งผลให้ปริมาณน้ำยางข้นมีมากจนล้นตลาด
นายศุภเดช กล่าวอีกว่า ปกติแล้วตลาดของน้ำยางข้น จะแคบกว่ายางพาราอัดแท่ง หรือยางพาราแผ่นดิบ เพราะน้ำยางข้นจะใช้ส่งป้อนเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยาง ยิ่งเมื่อราคายางพาราได้ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ผู้ที่เก็บสต็อกยางพาราไว้เป็นจำนวนมาก และได้กว้านซื้อกักตุนไว้เมื่อหลายเดือนก่อน ในยุคที่ราคายางพารายังอยู่ที่กิโลกรัมละ 50-60 บาท รีบนำยางพาราออกจำหน่าย แม้จะได้กำไรไม่มากนัก จึงฉุดให้ราคายางพาราทั้งระบบลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ตนเองเชื่อว่า สถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นเพียงแค่ระยะเวลาในช่วงสั้นๆ เท่านั้น
?แต่สิ่งที่อยากจะบอกเกษตรกรชาวสวนยางพาราไว้ ก็คือ ให้รีบหันกลับไปผลิตยางพาราแผ่น หรือผลิตเศษยางพารา แทนการจำหน่ายน้ำยางข้นอย่างเช่นทุกวันนี้ เพราะตลาดของยางพาราแผ่นดิบ รวมทั้งตลาดยางพาราอัดแท่ง ซึ่งผลิตส่งป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์ ก็คงมีการขยายตัวต่อไปในอนาคต และยังมีความต้องการในปริมาณที่ไม่จำกัด ดังนั้น เกษตรกรชาวสวนยางจึงต้องเร่งปรับตัว ก่อนที่จะทำให้ราคายางพาราฉุดลงมาหมดทั้งระบบ? นายศุภเดช กล่าวและว่า
ทั้งนี้ เพราะตัวเลขความต้องการน้ำยางข้นในประเทศมีเพียง 25% เท่านั้น ในขณะที่ความต้องการยางพาราแผ่นดิบในประเทศมี 30% และนำไปส่งออกยังต่างประเทศสูงถึง 70%
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์