พังงา, พังงาจัดทัวร์ ?สวนผลไม้? ปีนี้เชื่อ ?มังคุดทิพย์พังงา? ขายได้ 30 ล้าน ( ข่าวพังงา )
พังงาคาดส่งออก มังคุด ?ทิพย์พังงา? ทำรายได้ 30 ล้านบาท เผยปีนี้ผลผลิตลดจากปีที่แล้ว 70% พร้อมจัดโครงการนำร่องปรับปรุงสวนผลไม้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เชื่อได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวแน่นอน
นายธีรพงศ์ ตันติเพชราภรณ์ ประธานชมรมไม้ผลเพื่อการส่งออก จ.พังงา กล่าวถึงสถานการณ์ส่งออกผลไม้ของ จ.พังงา ว่า การส่งออกผลไม้ของจังหวัดพังงาได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นตลาดจีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง ส่วนตลาดในกลุ่มยุโรปยังไม่ได้รับการตอบรับมากนัก ซึ่งจะต้องเร่งทำการประชาสัมพันธ์และทำตลาดเพิ่ม
สำหรับผลไม้ที่มีการส่งออกมากที่สุด คือ มังคุดทิพย์พังงา ซึ่งเป็นมังคุดที่มีรสชาติไม่เหมือนที่อื่น มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน โดยในปีนี้คาดว่ามูลค่าการส่งออกผลไม้ของจังหวัดพังงาจะอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้วประมาณ 70%
ในปี 48 ที่ผ่านมา จังหวัดพังงาสามารถส่งผลผลิตผลไม้ได้สูงถึง 100 ล้านบาท แต่ปีนี้สภาพภูมิอากาสไม่อำนวยมีฝนตกชุก ทำให้ผลผลิตลดลงจำนวนมาก ประกอบกับผลไม้ของจังหวัดพังงา ออกพร้อมกับจังหวัดอื่นๆ ในฝั่งตะวันออก ทำให้ราคาผลไม้ปีนี้ไม่สูงนัก
?พื้นที่หลักที่มีผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ได้แก่ พื้นที่ อ.กะปง ซึ่งจะมีจุดรับซื้อ 5 จุด นอกจากนั้นยังมีจุดรับซื้อในพื้นที่ อ.ตะกั่วป่า อ.ตะกั่วทุ่ง และ อ.ท้ายเหมือง พื้นที่ละ 1 จุด โดยตลาดหลักที่มีความส่งออก ได้แก่ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งในปี 2548 มีปริมาณส่งออก 6 พันตัน คิดเป็นมูลค่า 100 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ผลผลิตที่ได้ลดลงประมาณ 30% จากปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกลดน้อยตามไปด้วย?
สำหรับสวนผลไม้ของจังหวัดพังงา ที่สามารถส่งออกได้มีสมาชิกที่เข้าสู่การปรับปรุงคุณภาพมังคุดมีใบรับรองคุณภาพวิชาการ หรือ GAP จำนวน 1,200 ราย โดยมีพื้นที่ในการปลูก จำนวน 16,000 ไร่ และมีผลผลิตออกสู่ตลาด จำนวน 12,000 ไร่ ทั้งนี้ผลผลิตจะออกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคมของทุกปี
ส่วนปัญหาที่เกษตรกรประสบนั้น นายธีรพงศ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของการขนส่ง เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นทำให้พ่อค้าไม่มารับซื้อผลผลิต เพราะจะต้องนำไปส่งที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยเฉพาะหากผลผลิตออกพร้อมกับทางภาคตะวันออก แต่ในปีนี้เนื่องจากผลผลิตออกมาน้อย จึงทำให้ไม่มีปัญหาของการล้นตลาด
นอกจากการส่งขายต่างประเทศแล้วก็ยังมีการส่งขายในจังหวัดใกล้เคียง และจังหวัดในภาคใต้ เช่น ภูเก็ต หาดใหญ่ เป็นต้น รวมทั้งยังได้มีการเตรียมเปิดตลาดใหม่ๆ ซึ่งมีลู่ทางที่จะไปได้ดี ไม่ว่าจะเป็นเอเชียใต้ อินเดีย หรือปากีสถาน และตลาดยุโรปอีกเล็กน้อย
นายธีรพงศ์ กล่าวด้วยว่า เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าการผลิตให้แก่เกษตรกร ในช่วงที่ผลผลิตราคาตกต่ำ จึงได้ริเริ่มจัดทำโครงการท่องเที่ยวเชิงเกษตรขึ้น โดยขณะนี้มีเจ้าของสวน ซึ่งสมัครใจเข้าร่วมโครงการแล้ว 2 สวน เพื่อนำร่องให้เห็นเป็นรูปธรรมสำหรับสมาชิกรายอื่นๆ
ดังนั้น ในส่วนของสวนที่จะดำเนินการจะต้องเป็นสวนที่มีความพร้อมในทุกด้าน ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และจะเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ต่อไป
สำหรับแนวโน้มการท่องเที่ยวเชิงเกษตร คิดว่าเกษตรกรในจังหวัดพังงา มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้อยู่แล้ว เพราะสวนของเกษตรกรนั้นจะเป็นลักษณะของสวนผสม ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะมังคุดเท่านั้น แต่จะมีผลไม้อื่นๆ ด้วย เช่น เงาะ ทุเรียน ลองกอง ละไม เป็นต้น และมีความแตกต่างจากอำเภออื่นๆ ของพังงา เนื่องจากไม่มีพื้นที่ติดทะเล แต่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในด้านการประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการจำหน่ายผลผลิต โดยเฉพาะในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งตรงกับช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์