สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพังงา ร่วมสถาบันคีนันแห่งเอเชียเร่งพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ (IN-STEP) ให้ครู สพท.พังงา
นายวิพล นาคพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพังงา กล่าวภายหลังการลงนามความร่วมมือทางด้านการศึกษาของจังหวัดพังงา ซึ่ง ดร.ชอบ ลีชอ ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนสำนักงาคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายพอล วิเด็ล กรรมการอำนวยการสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ศ.ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ ดร.ดักลาส ชาง กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ (IN-STEP) ณ พังงาเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา
โดยกล่าวว่า โครงการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ (Inquiry-based Scicnce and Technology Education Program) หรือ IN-STEP เป็นโครงการที่สถาบันคีนันแห่งเอเซีย และบริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันจัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ โดยจังหวัดพังงาได้รับเลือกเป็นพื้นที่นำร่องในการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์ให้กับโรงเรียนทุกสังกัดในจังหวัดพังงา เป็นระยะเวลา 3 ปีต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา
โดยเน้นการฝึกอบรมครูพัฒนาทักษะให้สามารถสอนวิทยาศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเน้นให้เด็กมีความสนใจ สงสัย ตื่นตัว และสนุกในกระบวนการค้นคว้า ทดลอง ตลอดจนหาข้อสรุปจากกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยตนเอง โครงการ IN-STEP ได้นำความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์กว่า 10 ปี จากสถาบัน MISE ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันทางด้านการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ชั้นนำ ในประเทศไทย มาพัฒนาและปรับใช้ให้เป็นหลักสูตรที่เหมาะสมกับบริบทของไทย ทั้งยังสามารถบูรณาการเข้ากับสาระวิชาความรู้อื่นๆ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากยิ่งขึ้นในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จัดขึ้นเนื่องจากเดือนตุลาคม 2549 ที่ผ่านมาได้มีการฝึกอบรมครูแกนนำจังหวัดพังงาไปแล้ว 15 คน ครูแกนนำทุกคนได้รับอุปกรณ์การเรียนการสอนตามโมดูลที่รับการอบรม พร้อมทั้งนำบทเรียนไปทดลองสอนกับนักเรียนเพื่อสร้างความคุ้นเคยและความมั่นใจ ตลอดจนทราบถึงการตอบสนองในการเรียนรู้ของนักเรียน ก่อนการนำบทเรียนในเรื่องพลังงาน เครื่องกลและการเคลื่อนที่เรื่องแสง และเรื่องโลกในอวกาศโดยมาทำการอบรมครู 45 คน จาก 22 โรงเรียนในจังหวัดพังงา ซึ่งในครั้งนี้เป็นการจัดการอบรมขึ้นเป็นปีที่ 1 จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26-30 มีนาคม 2550
นอกจากจะมีครูแกนนำที่ผ่านการอบรมจะมาเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้เข้ารับการอบรมแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจาก MISE สหรัฐอเมริกา สสวท. สพท.กาฬสินธุ์, กระบี่, ภูเก็ต และที่ปรึกษาโครงการฯ มาร่วมในการเป็นวิทยากรพี่เลี้ยงในการอบรมครั้งนี้ด้วย
โดยคาดหวังว่าครูที่ผ่านการอบรมจะได้นำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้เยาวชนในจังหวัดพังงา โดยการเรียนวิทยาศาสตร์ผ่านกระบวนการเรียนการสอนแบบ “สืบเสาะหาความรู้ (Inquiry-based)” ที่เน้นให้นักเรียนได้รู้หลักการใช้เหตุและผล เพื่อค้นหาคำตอบด้วยตนเอง อันเป็นกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์