พังงา, ?มูลนิธิชัยพัฒนา? สร้างชีวิตใหม่ให้ชาวทุ่งนาดำ หลังสึนามิพัดผ่าน ( ข่าวพังงา )
การเลี้ยงกุ้งในกระชัง ภายใต้โครงการมูลนิธิชัยพัฒนา นำไปสู่ฝันที่เป็นจริงของชาวบ้านหาดทุ่งนาดำ จังหวัดพังงา
แม้ว่าจนถึงวันนี้ มหันตภัยธรรมชาติ สึนามิ จะได้ผ่านพ้นมาแล้วเกือบ 2 ปีเต็ม ก็ยังคงมีรอยแผลจากปรากฏการณ์ครั้งนั้น ให้เห็นอยู่ โดยเฉพาะชาวประมงจังหวัดพังงา ที่เรียกได้ว่า แทบจะไม่มีใครรอดพ้นจากภัยพิบัติครั้งนั้นได้เลย เพียงแต่จะมากบ้าง น้อยบ้างเท่านั้น วันนี้เราจะไปติดตามดูว่า พวกเขาเหล่านั้นได้รับการเยียวยาเพื่อรักษาบาดแผลที่ร้าวลึกอย่างไรบ้าง
ที่บ้านน้ำเค็ม และหาดนางดำ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ อย่างเต็มๆ หลังจากคลื่นยักษ์ผ่านพ้นไป นอกจากจะพรากชีวิตชาวบ้านที่นี่ไปไม่น้อยแล้ว ก็ยังไม่เหลืออะไรไว้ให้ชาวประมงที่นี่ได้ทำมาหากินอีกต่อไปด้วย ดังนั้น ความช่วยเหลือชาวประมงที่นี่จำเป็นต้องได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วนและครบวงจร จึงเป็นที่มาของโครงการนำร่องช่วยเหลือชาวประมง ที่เรียกว่า โครงการเลี้ยงกุ้งมังกรในกระชัง โดยสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ที่มีสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธาน กาชาดไทย มูลนิธิศุภนิมิต และ บลจ.ไทยพาณิชย์ จำกัด ได้ร่วมมือกันช่วยเหลือชาวบ้านที่นี่ ให้สามารถลืมตา อ้าปากได้อีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด ได้การมอบเงินทุนจำนวน 1 ล้านบาทให้กับโครงการทดลองเลี้ยงกุ้งในกระชัง ที่มี นายดวงใจ นวลประโค ชาวบ้านปากเตรียม ผู้ที่เชี่ยวชาวการเลี้ยงกุ้งมังกร เป็นประธานกลุ่มชาวประมง ร่วมกันสร้างกระชังเลี้ยงกุ้งมังกร ตามแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน และยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โครงการนี้เป็นการทดลองเลี้ยงกุ้งมังกร จำนวน 12 กระชัง ด้วยเงินทุนประมาณกว่า 4 แสนบาท ที่นายดวงใจ กู้ยืมจากโครงการ ไปจัดทำกระชังเพาะเลี้ยงแบบผสมผสาน จำนวน 12 กระชัง และหาซื้อกุ้งมังกรสายพันธุ์ 7 สี และสายพันธุ์เลน (สีน้ำตาล) มาเพาะเลี้ยง เพราะเป็นสายพันธุ์ที่หาง่าย และขายได้ราคาสูง โดยกุ้งหนึ่งตัวที่ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 6 เดือน จะมีน้ำหนักตัวถึง 600-700 กรัมนั้น สามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละ 1,600 บาท และแต่ละกระชังจะเลี้ยงกุ้งได้ประมาณ 100 ตัว คาดว่า โครงการนี้จะสำเร็จได้ไม่เกินเดือนเมษายนปีหน้า ส่วนช่วงเวลาหลังจากเดือนเมษายนไปแล้ว กลุ่มชาวประมงของนายดวงใจ ก็จะหันมาเลี้ยงปลากะพง และปลาเก๋า ซึ่งเป็นปลาที่ขายได้ราคาสูงเช่นกัน
หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จ ก็จะถือว่าเป็นโครงการตัวอย่างที่จะเป็นจุดดึงดูดให้ชาวประมงจังหวัดพังงา หันมาเพาะเลี้ยงกุ้งมังกรมากขึ้น และผลที่จะตามมา ก็คือ ชุมชนจะเข้มแข็งต่อไปได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงนี้ ยังถือเป็นช่วงนาทีทองที่ตลาดยังมีความต้องการรับซื้อกุ้งมังกรเป็นจำนวนมากอีกด้วย โดยชาวประมงจะส่งขายให้กับภัตตาคารต่างๆ ตามโรงแรมในจังหวัดภูเก็ต และพังงา หลายแห่ง
โครงการนี้นอกจากจะสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ที่มั่นคงให้ชาวประมงที่ต้องการฟื้นฟูอาชีพ หลังประสบภัยสึนามิ แล้ว ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชาวประมงพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งเบื้องต้นทางมูลนิธิชัยพัฒนาได้วางแผนโครงการเป็นระยะเวลา 5 ปี และหากเป็นไปตามเป้าหมายก็จะทำให้มีการขยายกลุ่มสหกรณ์ เพื่อการแปรรูปอาหารทะเลในอนาคตได้ด้วย แม้โครงการนี้จะเป็นการจุดประกายให้ชาวประมงเพียงกลุ่มเดียวให้ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเพียงจุดเล็กๆ เท่านั้น แต่เชื่อว่าในวันข้างหน้าจะเกิดโครงการดีๆ เช่นนี้ เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่ยังคงต้องรอคอยการฟื้นฟูต่อไปอย่างแน่นอน
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์