กระบี่, อัด กฟผ.ขุดลอกร่องน้ำไม่ปรึกษา - ชาวบ้านประชุมด่วนหวั่นผลกระทบ ( ข่าวกระบี่ )
นายก อบต.เกาะศรีบอยา อัด กฟผ.ขุดลอกร่องน้ำไม่ปรึกษาชาวบ้าน เกรงเกิดผลกระทบหลายด้าน เตรียมเรียกผู้นำท้องถิ่นประชุมหาทางออก
นายสุริยะ บุษบงค์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะศรีบอยา (อบต.) อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ได้เปิดเผยถึงโครงการขุดลอกร่องน้ำ เพื่อการเดินเรือที่ปากคลองศรีบอยา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย โรงไฟฟ้าภาคใต้ ความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร ลึกประมาณ 5 เมตร ว่า
เดิมโครงการดังกล่าว การไฟฟ้าฝ่ายผลิตโรงไฟฟ้าภาคใต้ ได้ก่อสร้างท่าเทียบเรือเพื่อรองรับการขนส่งน้ำมันเตา เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหินลิกไนต์ แต่เรือขนาดใหญ่ ไม่สามารถเข้าจอดเทียบท่าได้ เนื่องจากร่องน้ำศรีบอยามีความตื้นเขิน และในเบื้องต้นก็ได้มีการศึกษาวิจัย ถึงผลกระทบในการขุดลอกร่องน้ำ แต่ไม่ผ่านการพิจารณาจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
นายสุริยะ ได้กล่าวต่อไปว่า ต่อมาทราบว่าจังหวัดกระบี่ ได้นำโครงการขุดลอกร่องน้ำศรีบอยาบรรจุเข้าเป็นแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด เมื่อประมาณเดือนกันยาน 2547 โดยทาง กฟผ.เป็นผู้ให้งบประมาณสนับสนุน ในการขุดลอกร่องน้ำที่ความลึก 5 เมตร จากระดับน้ำต่ำสุด งบประมาณ 103 ล้านบาท โดยมีกรมการขนส่งน้ำและพาณิชยนาวี เป็นผู้ดำเนินการ โดยการว่าจ้างภาคเอกชนขุดลอก ซึ่งอ้างว่าเพื่อต้องการส่งเสริมการส่งออกน้ำมันปาล์ม โดยขนส่งทางเรือ และมีกำหนดการ ที่จะเดินเรือส่งออกน้ำมันปาล์มงวดแรกประมาณเดือนพฤษภาคม 2548 ที่ผ่านมา
นายก อบต.ได้กล่าวอีกว่า ตนมองว่า โครงการดังกล่าว มีความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง ตั้งแต่ในครั้งแรก ที่ก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือของ กฟผ.โรงไฟฟ้าภาคใต้ เพื่อต้องการขนถ่ายน้ำมันเตา เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจังหวัดกระบี่ และมีการศึกษาเพื่อจะทำการขุดลอกร่องน้ำ แต่ไม่ผ่านการพิจารณา
ต่อมาก็ให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการขุดลอกเอง แต่ไม่มีการศึกษาในเวลาต่อมา เพียงแต่อ้างว่าได้มีการศึกษาถึงผลกระทบไว้แล้ว ซึ่งหากว่ามีการศึกษาผลกระทบจริงทางชาวบ้านในตำบลเกาะศรีบอยาก็จะต้องทราบบ้าง แต่ ณ วันนี้ชาวบ้านไม่รู้เรื่องอะไรเลย
?การดำเนินการขุดลอกร่องน้ำ เพื่อรองรับเรือขนาดใหญ่ มีระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตรเริ่มที่ปากคลองศรีบอยา ไปยังบริเวณเกาะไผ่ โดยได้ดำเนินการขุดลอกไปแล้วประมาณ 2 กิโลเมตร เริ่มขุดมาเป็นเวลาประมาณ 2 อาทิตย์ ซึ่งตนเกรงว่าการขุดลอกร่องน้ำดังกล่าวจะเกิดผลกระทบกับวิถีชิวิตของชาวบ้าน เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนดิน และการไหลเวียนของน้ำ ซึ่งตนอยากให้จังหวัดหยุดการขุดลอกชั่วคราว และหันมาทบทวนผลกระทบ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกับชาวบ้านกันอย่างจริงจัง เพราะขณะนี้เรือขนาดกลางก็สามารถวิ่งขนถ่ายน้ำมันได้อยู่แล้ว และในเร็วๆ นี้ตน ก็จะเรียกผู้นำท้องถิ่นและชาวบ้านในพื้นที่ มาพูดคุยและหาแนวทางที่จะยับยั้งต่อไป?
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์