ผู้จัดการออนไลน์ - “เสริมทรัพย์” จับมือ “ลาวี” ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเผาขยะมูลฝอยและพลังงานไฟฟ้าจากเยอรมัน เดินหน้าโครงการเตาเผาขยะไร้มลพิษได้พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดกระบี่ มั่นใจจะแก้ปัญหาขยะล้นเมือง-ไม่กระทบภาวะสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยว
วันนี้ (7 เม.ย.) เมื่อเวลา 10.30 น. นายณรงค์ ตรีเนตร กรรมการบริหาร บริษัท เสริมทรัพย์ไพศาลกรุ๊ป 1999 จำกัด นายอังกรู ไผ่แก้ว รองกรรมการบริหาร บริษัท เสริมทรัพย์ และทีมผู้บริหาร ร่วมกับ Mr.Dieter Langer กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลาวี เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเทคโนโลยีด้านพลังงานจากประเทศเยอรมัน และทีมผู้บริหาร ได้ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) และสัมมนาด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาความร่วมมือในการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายโครงการเตาเผาขยะมูลฝอยได้พลังงานไฟฟ้าไร้มลพิษ และเพื่อตกลงให้บริษัท เสริมทรัพย์ไพศาลกรุ๊ป 1999 จำกัด ดำเนินการตลาดและการขายในประเทศ
นายณรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีปริมาณขยะที่เกิดขึ้นแต่ละวัน มากกว่า 37,000 ตัน หรือ 13.5 ล้านตันต่อปี แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเก็บขยะ ด้วยวิธีฝังกลบได้ประมาณร้อยละ 80 ส่วนอีกร้อยละ 20 นำไปเผาทิ้ง ซึ่งถือว่าเป็นการทำที่ผิดวิธี ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดขยะด้วยการฝังกลบ หรือเผา เป็นสิ่งที่ไม่ดีพอจึงทำให้เกิดปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อม เป็นอันตรายต่อชุมชน เพราะฝังกลบทำให้เป็นปัญหาด้านส่งกลิ่น เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค มีแมลงวันมาก ทำให้น้ำเสียจากบ่อฝังกลบ ซึ่งในอนาคตน้ำเสียที่ซึมจากใต้บ่อขยะจะกระจายเข้าสู่แหล่งน้ำใต้ดิน ความเสียหายยากที่จะแก้ไข
อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างโรงงานเตาเผาขยะมูลฝอย ที่ผ่านมาชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ยังกลัวเรื่องมลพิษต่างๆ เพราะขาดการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งทางบริษัท เสริมทรัพย์ไพศาลกรุ๊ป 1999 จำกัด ได้ทำการตลาดและทำมวลชน เสนอแนะการแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนในพื้นที่ โดยได้นำร่องที่จังหวัดยโสธร เป็นแห่งแรก แต่ได้ชะลอโครงการไว้ก่อน และเดินหน้าโครงการ ที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งกำลังมีปัญหาขยะล้นทั้งบนฝั่งและในทะเล เนื่องจากจังหวัดกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ โดยมีขยะมากกว่า 200 ตันต่อวัน ซึ่งในปีหนึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน ดังนั้น โครงการเตาเผาขยะมูลฝอยไร้มลพิษได้พลังงานไฟฟ้าจากแรงดันไอน้ำในการเผาขยะ ซึ่งเป็นโรงงานแบบปิด จะเริ่มที่จังหวัดกระบี่ เป็นแห่งแรก มีกำลังเผาขยะได้ 150-1,500 ตัน/วัน ผลิตไฟฟ้าได้ 3-55 MW/วัน และไม่มีกลิ่นรบกวน ไม่มีควัน ไม่มีขี้เถ้า ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวจะสามารถกำจัดขยะในแต่ละพื้นที่ได้ดี ไม่มีปัญหาขยะตกค้าง ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม และไม่สร้างมลพิษในชุมชน
นอกจากนี้ การก่อสร้างเตาเผาจะเน้นความทันสมัยใช้เทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนี การลำเลียงรถขนขยะจะผ่านการชั่งน้ำหนักที่ด่านชั่งก่อนทุกครั้ง ก่อนผ่านเข้าสู่โรงงานที่ปิดมิดชิด เพื่อป้องกันมลภาวะทางกลิ่นทั้งหมด ความร้อนจากการเผาขยะจะทำให้เกิดไอน้ำในปริมาณ 20 ตันต่อชั่วโมง จะทำให้เกิดแรงอัด เกิดความดันไอน้ำ ขับออกมา ซึ่งกำลังอัดของแรงดันไอน้ำจะนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้า เป็นพลังงานความร้อน เนื่องจากไอน้ำที่ออกมาจะมีอุณหภูมิสูงถึง 380 องศาเซลเซียส ซึ่งโรงงานเผาขยะฯ จะมีระบบป้องกันมลพิษ มีปล่องดักไร้ควัน ที่ไร้มลพิษ ป้องกันการฟุ้งกระจายของขี้เถ้าเป็นอย่างดี
“กระบี่ เป็นที่แรกที่ดำเนินการโรงงานเตาเผาขยะ ทางเราก็หวังและมั่นใจจะแก้ปัญหาขยะล้นเมืองได้มีประสิทธิภาพ ซึ่งมูลค่าการลงทุนก็เกือบ 1,000 ล้านบาท เราได้บริษัท ลาวี มาร่วมมือกันยิ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะลาวีเค้าชำนาญงานเผาขยะมูลฝอย เป็นบริษัทสาขาจากเยอรมนี เครื่องไม้ เครื่องมือเค้าทันสมัย สมัยก่อนการทำลายขยะทำแบบฝังกลบ มันส่งกลิ่นเหม็น และมีผลเสียกับน้ำเสีย ไม่ดี แบบนี้ที่เราทำจะมีศักยภาพกว่าเยอะเลย คุ้มค่ากว่าไม่มีมลพิษด้วย” นายณรงค์ กล่าว
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์