กระบี่ -โรคเอดส์จังหวัด กระบี่ ยังโคม่า มีแนวโน้มขยายตัวสู่กลุ่มแม่บ้าน พบมากกลุ่มคนทำงาน อายุ 25-29 ปี
นายชัยเลิศ ภิญโญรัตนโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัด กระบี่ กล่าวว่า จากที่นายแพทย์ณรงค์ ฉายากุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประจำเขตตรวจราชการที่ 15 และ 17 ได้เดินทางมาประชุมการบูรณาการงานป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ของจังหวัด กระบี่ ร่วมกับหน่วยงานภาคีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปผลการดำเนินงานโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ ที่ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กระบี่ โดยจะต้องดำเนินการแก้ไข เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงานแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์
ในที่ประชุมรายงานว่า ปัจจุบันโรคเอดส์ไม่ได้พบเฉพาะผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงเท่านั้น แต่ได้มีแพร่กระจายเข้าสู่ครอบครัวสู่กลุ่มแม่บ้าน หญิงวัยเจริญพันธุ์ รวมทั้งเด็กทารกอย่างครบวงจร โรคเอดส์ไม่ได้เป็นเฉพาะปัญหาสาธารณสุขเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบถึงสังคมและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม อัตราความชุกของการติดเชื้อเอดส์ของจังหวัด กระบี่ กลุ่มหญิงบริการอาชีพพิเศษตั้งแต่ พ.ศ.2533 ถึง พ.ศ.2538 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สูงสุดใน พ.ศ.2538 เท่ากับร้อยละ 20.65
หลังจากนั้นความชุกเริ่มมีแนวโน้มลดลงในปี 2550 อัตราความชุกร้อยละ 7.3 จากการสอบถามหญิงบริการที่ติดเชื้อเอดส์ ส่วนใหญ่จะเป็นหญิงบริการที่มาทำงานใหม่ในจังหวัด กระบี่ แต่เก่ามาจากจังหวัดอื่น อัตราการใช้ถุงยางอนามัยร้อยละ 98 ส่วนกลุ่มหญิงบริการอาชีพพิเศษแฝง อัตราความชุกตั้งแต่ปี 2533 ถึงปัจจุบันไม่คงที่ มีอัตราความชุกร้อยละ 4.6 และมีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยร้อยละ 96
ในส่วนของกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อัตราการติดเชื้อมีแนวโน้มสูงคงที่จากปี 2549 ร้อยละ 1.9 ในปี 2550 ร้อยละ 1.8 ซึ่งมีอัตราสูงกว่าเกณฑ์ที่กระทรวงฯ กำหนดไว้ คือไม่เกินร้อยละ 0.95 และนับตั้งแต่มีรายงานผู้ติดเชื้อเอดส์ที่มีอาการและผู้ป่วยรายแรกในปี 2533 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2551 ของจังหวัด กระบี่ มีผู้ป่วยเอดส์จำนวน 1,612 ราย เสียชีวิตแล้ว จำนวน 292 ราย ปัจจัยเสี่ยงที่พบมากที่สุด คือ ทางเพศสัมพันธ์ คิดเป็นร้อยละ 61.6
รองลงมา คือ ยาเสพติด ชนิดฉีดเข้าเส้น คิดเป็นร้อยละ 16.7 และจากแม่ผู้ติดเชื้อเอดส์ คิดเป็นร้อยละ 4.4 โดยพบมากในกลุ่มทำงานอายุ 25-29 ปี ร้อยละ 25.36 รองลงมากลุ่มอายุ 30-34 ปี ร้อยละ 22.92 ส่วนกลุ่มอายุ 0-4 ปี พบร้อยละ 3.82 อาชีพที่พบมากที่สุด คือ อาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 44.8 แม่บ้าน ร้อยละ 4.5 และเด็กต่ำกว่าวัยเรียนคิดเป็นร้อยละ 4.22
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์