นายก อบต.อ่าวนาง แฉกลางที่ประชุม ไม่เชื่อโครงการฟื้นฟูเกาะพีพีจะสำเร็จ หลังรัฐเคยสัญญาว่าจะได้ แต่กลับล่วงเลยเวลาเกือบ 3 ปี ทุกอย่างยังเงียบ
วันนี้ ( 11 มิ.ย. 2550) ที่ห้องประชุมปกาสัย อาคารหอวัฒนธรรม ศาลากลางจังหวัดกระบี่ คณะอนุกรรมการตรวจสอบ และประเมินผลภาคราชการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประวิตร นิลสุวรรณากุล เป็นประธาน พร้อมด้วยนายนที เปรมรัศมี ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการ และคณะได้เดินทางมาตรวจราชการติดตามการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่ บริเวณเกาะพีพี ระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน 2550 โดยมีศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ให้การต้อนรับ พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
ในที่ประชุมทางนายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ได้ชี้แจ้งผลการดำเนินงานพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่บริเวณเกาะพีพี จำนวน 12 โครงการ หลังจากเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มเกาะพีพี ทั้งนี้ เพื่อให้เกาะพีพีสามารถที่จะพัฒนารุดหน้าได้ต่อไป ได้แก่ 1.โครงการขยายเขตติดตั้งระบบไฟฟ้าด้วยสายเคเบิลใต้น้ำ 2.โครงการก่อสร้างระบบประปา 3.การกำหนดระยะแนวถอยร่น และความสูงอาคาร 4.โครงการเส้นทางหนีภัย 10 เส้นทาง
5.การขอใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อก่อสร้างศูนย์ราชการ 6.การก่อสร้างท่าเทียบเรือเพื่อการท่องเที่ยว 7.การก่อสร้างโรงเรียนบ้านเกาะพีพี 8.การก่อสร้างโรงพยาบาลเกาะพีพี 9.ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับที่อยู่อาศัย 10.การก่อสร้างบ้านพักถาวรผู้ประสบภัยสึนามิ 11.การก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียบึงประดิษฐ์ 12.การจัดระเบียบเกาะพีพี
นายศิวะ กล่าวว่า หลายโครงการในการฟื้นฟูเกาะพีพี ผลการดำเนินงานจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยเฉพาะการอนุมัติในหลักการ และก็ยังมีอีกหลายโครงการที่ยังไม่มีความหน้า เช่น การขอใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เพื่อการก่อสร้างศูนย์ราชการ จำนวน 12-2-80 ไร่ เป็นที่ตั้งของสำนักงานการประปาส่วนภูมิภาค สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน ที่ 426 ซึ่งก็ยังไม่มีความคืบหน้า หากเป็นอย่างนี้ต่อไปก็จะทำให้จังหวัดกระบี่ เสียโอกาสต่อไปในการฟื้นฟู
ด้านนายพันคำ กิตติธรกุล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวนาง ซึ่งดูแลพื้นที่เกาะพีพี ได้กล่าวว่า ตนไม่เชื่อว่าโครงการต่างๆที่ภาครัฐบอกว่าจะเข้ามาพัฒนาฟื้นฟูเกาะพีพี จะได้ทั้งหมด ยกเว้นในส่วนของหน่วยงานภาคเอกชนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เช่น โครงการก่อสร้างบ้านพักผู้ประสบภัยสึนามิ ซึ่งทางมูลนิธิศุภนิมิต ได้ให้งบประมาณในการก่อสร้างมีความรุดหน้าไปมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ ก็ยังมีบ่อบำบัดน้ำเสียแบบบึงประดิษฐ์ ที่ทางประเทศเดนมาร์ก ให้งบประมาณสนับสนุนในการก่อสร้าง ก็ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ และสามารถใช้งานได้แล้วถึงแม้ว่าจะยังไม่เต็มร้อยก็ตาม
นายพันคำ กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่หลังจากเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ หน่วยงานต่างๆได้เข้ามาให้ช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก แต่เป็นที่น่าแปลกว่าโครงการต่างๆของรัฐที่เสนอว่าจะเข้ามาสร้างที่เกาะพีพี หลายโครงการไม่มีความคืบหน้า ซึ่งตนเองก็ไม่กล้าไปบอกกับชาวบ้านว่าโครงต่างๆนั้นจะได้เมื่อไร
แม้ว่าขณะนี้หน่วยงานต่างที่รับผิดชอบบอกว่า กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในเรื่องของงบประมาณก็ตาม ซึ่งพูดอยู่อย่างนี้ไม่น้อยกว่า 2 ปี แต่ก็ไม่เห็นว่าจะได้ เช่น การก่อสร้างสะพานท่าเทียบเรือ เพื่อการท่องเที่ยว ถึงแม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบอกว่าได้งบประมาณ และผ่านความเห็นชอบแล้วก็ตาม หากยังไม่มีการก่อสร้างตนก็ยังไม่เชื่อว่าจะได้
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์