รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตรวจเยี่ยมและประชุม ติดตามงาน “การป้องกันภัยธรรมชาติและการบริหารระบบสื่อสารโทรคมนาคม พื้นที่ชายฝั่งทะเลและพื้นที่เสี่ยง 6 จังหวัดอันดามัน” เสนอตรวจสอบความพร้อมหอเตือนภัยทุกวัน 2 เวลา ช่วงเคารพธงชาติ ด้าน “นายสมิทธ ธรรมสโรช” เตือนระวังอีก 5-10 ปีข้างหน้าเกิดสึนามิแน่
เมื่อวันนี้ (30 พ.ค.) ศาสตราจารย์ ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พร้อมด้วยคณะตรวจเยี่ยมและประชุมติดตามงานการป้องกันภัยธรรมชาติและการบริหารระบบสื่อสารโทรคมนาคม บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล และพื้นที่เสี่ยงภัย ใน 6 จังหวัดอันดามัน ณ โรงแรมกระบี่มาริไทม์ ปาร์ค แอนด์สปา รีสอร์ท อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดอันดามัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ต่อมา นายศิวะ ศิริเสาวลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวนำบรรยายสรุป ถึงระบบเตือนภัยต่างๆ ของจังหวัดกระบี่ และการรายงานการติดตั้งระบบเตือนภัยของพื้นที่เสี่ยงภัย ทั้ง 6 จังหวัด ชายฝั่งทะเลอันดามันที่ได้มีการติดตั้งระบบเตือนภัย เสร็จเรียบร้อยแล้วรวม 99 แห่ง ดังนี้ จังหวัดพังงา 18 แห่ง, ภูเก็ต 19 แห่ง, กระบี่ 32 แห่ง, ตรัง 11 แห่ง, สตูล 14 แห่ง และจังหวัดระนอง 5 แห่ง
ในการนี้ นายสมิทธ ธรรมสโรช ที่ปรึกษาศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ และอดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ร่วมชี้แจงถึงแนวทางของเครือข่ายการถ่ายทอดข้อมูลเตือนภัยธรรมชาติ จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ไปยังพื้นที่เสี่ยงภัย ว่า ในภาพรวมของประเทศ และโดยเฉพาะพื้นที่ใน 6 จังหวัดอันดามัน ที่มีความเสี่ยงสูงต่อภัยพิบัติ สึนามิ โดยใช้ดาวเทียมเชื่อมต่อไปยังศูนย์เตือนภัยฯ ส่งผ่านไปตามช่องทางต่างๆ ไปยังพื้นที่ประสบภัยล่วงหน้า ในรูปแบบต่างๆ ทั้งการใช้ระบบคลื่นวิทยุ FM และ AM จากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยทั่วประเทศ ระบบหอเตือนภัย ระบบอินเทอร์เน็ต ระบบวิทยุสื่อสาร และยังมีอีกหลายช่องทางเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบได้อย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์
ดร.สมิทธ กล่าวต่อไปว่า ตนอยากจะฝากเตือนไปยังผู้รับผิดชอบในพื้นที่ 6 จังหวัด ว่า อย่าได้ตกอยู่ในความประมาทเป็นอันขาดว่า สึนามิจะไม่เกิดขึ้น หรือจะเกิดขึ้นอีก 100 ปีข้างหน้านั้น ตนได้รับแจ้งจากผู้เชี่ยวชาญของประเทศญี่ปุ่น ว่า อีกประมาณ 5-10 ปีข้างหน้า จะมีโอกาสเกิดคลื่นยักษ์สึนามิอีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันจะพบว่า ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว บริเวณประเทศแถบเพื่อนบ้านจำนวนหลายครั้ง แม้ว่าจะไม่ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทยก็ตาม แต่ทุกฝ่ายก็ควรที่จะเตรียมตัวป้องกันไว้ก่อน
ในที่ประชุม สรุปว่า การติดตั้งระบบการเตือนภัยจะเป็นการสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน และนักท่องเที่ยว รวมถึงสามารถลดความสูญเสียจากภัยพิบัติ โดยจะส่งเสริมระบบการเตือนภัยให้มากขึ้นและจะมีการเพิ่มระบบเตือนภัย อีก 48 จุด ในจังหวัดภาคใต้ ผลจากการประชุมครั้งนี้จะได้รับทราบข้อมูลเพิ่มเติม จากผู้เกี่ยวข้องที่จะนำไปสู่การพัฒนาระบบเตือนภัยอย่างเป็นระบบ รวมถึงการสื่อสารระหว่างเกาะกับพื้นที่ชายฝั่งทะเล ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยงภัย โดยจะเร่งรัดให้มีการดำเนินการให้แล้วเสร็จ ในรัฐบาลชุดนี้ด้วย
ภายหลังประชุม ศาสตราจารย์ ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เดินทางไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานหอเตือนภัยบริเวณบ้านคลองเตาะ ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง บริเวณหาดอ่าวนาง ต.อ่าวนาง หาดคลองม่วง ต.หนองทะเล อ.เมืองกระบี่ ได้กล่าวว่า ทางศูนย์เตือนภัยแห่งชาติได้กำหนดจัดการซ้อมการเตือนภัยครั้งยิ่งใหญ่พร้อมกัน 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามันในวันที่ 25 ก.ค.2550 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว ดังนั้น นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ตนขอความร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ช่วยประชาสัมพันธ์บอกกล่าวให้ประชาชนได้ทราบทั่วกันด้วย
“แต่จากการที่ตนลงพื้นที่ พบว่า มีประชาชนหลายคนเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจต่อหอเตือนภัยที่ทางภาครัฐจัดสร้างให้ ผมจึงเสนอความเห็นในที่ประชุมให้พิจารณาตรวจสอบความพร้อมระบบการส่งสัญญาณจากส่วนกลางไปยังหอเตือนภัยต่างจังหวัดต่างๆ โดยเปิดเพลงชาติช่วงเวลา 08.00 น.และเวลา 18.00 น.ทุกวัน ซึ่งศูนย์เตือนภัยแห่งชาติรับทราบไปดำเนินการต่อไปแล้ว” ศาสตรจารย์ ดร.สิทธิชัย กล่าว
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์