ปลัด ก.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงเกาะลันตา พรุ่งนี้ ตรวจสอบปะการังและเหตุปลาตาย
นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีหลายฝ่ายออกมาพูดถึงกันมากเกี่ยวกับเรื่องของภาวะโลกร้อน ซึ่งคนกระบี่อาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยและไกลตัว แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวอย่างมาก เพราะปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นรอบๆ ตัวของเราทุกคน ซึ่งในอนาคตก็จะมีความรุนแรงมากขึ้น
ดังจะเห็นได้จากขณะนี้เกิดปรากฏการณ์หลายอย่างเช่นที่ผ่านมา เกิดเอลนีโญ ซึ่งต่อเนื่องจากภาวะโลกร้อน ทำให้น้ำแข็งละลาย และไหลมากระทบกับน้ำอุ่น ส่งผลให้ปลาในทะเลตายจำนวนมาก นอกจากนั้น ก็มีเรื่องอุณหภูมิที่สูงขึ้นในทุกๆ วัน
นายอิทธิฤทธิ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เราควรจะเร่งทำในขณะนี้ แม้จะเป็นแค่ส่วนเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม เช่น การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เช่น โฟม หรือถุงพลาสติก การใช้น้ำมันที่ต้องช่วยกันลด การไม่ตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น ที่จะต้องมีการณรงค์กันอย่างจริงจัง ส่วนสิ่งที่มองไม่เห็นแต่ก็น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้น ก็คือ เรื่องการท่องเที่ยว ที่ในอนาคตเมื่อโลกลดการใช้ทรัพยากรมากขึ้น นักท่องเที่ยวก็จะเดินทางท่องเที่ยวน้อยลงด้วย ดังนั้น จึงต้องมีการช่วยกันอย่างเต็มที่
ขณะที่ นายสุนทร เชาว์กิจค้า ประธานชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา กล่าวด้วยว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนนั้น ในช่วงที่ผ่านมา ทะเลอันดามันจะกระทบมากที่สุด โดยในพื้นที่เกาะลันตา หลังจากเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้ปลาตาย และหลังจากนั้น ก็พบว่า ปะการังหลายชนิดในพื้นที่น้ำลึกที่ถูกน้ำเย็นไหลผ่านก็เกิดการเหี่ยวเฉา และไม่สวยงามดังเดิม
แม้ขณะนี้จะเริ่มดีขึ้น แต่หากเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าวก็จะกระทบต่อทรัพยากรในส่วนดังกล่าวอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้กระทบการท่องเที่ยวกับธุรกิจดำน้ำลึกมากนัก เพราะขณะนี้ผู้ประกอบการเริ่มปิดกิจการ เพื่อเปิดในช่วงหน้าไฮซีซันในเดือนพฤศจิกายน –เดือนเมษายน ปีหน้า ทำให้ในส่วนนี้ไม่กระทบรุนแรง
นายอาทิตย์ ละเอียดดี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดจากภาวะโลกร้อนขึ้น ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลาย เมื่อมาผสมกับน้ำทะเล ทำให้อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ทำให้ปลาไม่สามารถปรับตัวได้ทันเกิดอาการช็อกตายในที่สุด
นอกจากนี้ จากการสำรวจยังพบว่า ปะการังได้รับผลกระทบเกิดอาการเหี่ยวเฉาเช่นเดียวกัน และในวันที่ 21 เมษายน 2550 ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมคณะจะลงมาในพื้นที่อำเภอเกาะลันตา เพื่อทำการสำรวจพื้นที่อีกครั้ง ที่ได้รับความเสียหายจากปรากฏการณ์ดังกล่าว โดยจะลงพื้นที่ 2 จุด คือ หินแดง-หินม่วง จุดดำน้ำลึกที่สวยงามที่สุดในฝั่งอันดามัน และที่เกาะรอก เพื่อทำการศึกษาต่อไปด้วย
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์