“กองเรือภาคที่ 3 กองเรือยุทธการ” ตั้ง “ศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ ฝั่งอันดามัน” เพิ่มที่หมู่เกาะสุรินทร์-เกาะสิมิลัน อ่าวพังงา เกาะลันตาน้อย จังหวัดกระบี่ คาดแล้วเสร็จช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ เน้นภารกิจช่วยเหลือนักท่องเที่ยว-ประชาชน ประสบภัยในทะเล ที่เกินขีดความสามารถของเจ้าของพื้นที่ระยะห่างจากฝั่ง 500 เมตร ขณะที่พื้นที่ท่องเที่ยวหลัก ป่าตอง-เขาหลัก ดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2548
พลเรือตรีศักดิ์นรินทร์ เจริญสุข ผู้บัญชาการ กองเรือป้องกันฝั่ง เขต 3 กองเรือภาคที่ 3 กองเรือยุทธการ และผู้อำนวยการ ศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ ฝั่งอันดามัน (ศรภ.ทร.อม.) กล่าวถึงการจัดตั้ง “ศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ ฝั่งอันดามัน” ว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ทำให้ประชาชนชาวไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บ และสูญหายเป็นจำนวนมาก
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอันดามันได้รับผลกระทบทรัพย์สินเป็นวงกว้าง ตลอดจนสภาพธรรมชาติได้รับความเสียหายอย่างหนัก รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้กองทัพเรือรับผิดชอบจัดทำโครงการ “รักษาความปลอดภัยการท่องเที่ยวทางทะเล” เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว สร้างภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวทางทะเล และจังหวัดชายฝั่งทะเลของไทย
ดังนั้น กองทัพเรือจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาโครงการฯ ดังกล่าว โดยมีเสนาธิการทหารเรือ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และผู้จัดการโครงการฯ ต่อมากองทัพเรือได้อนุมัติให้ ตนในฐานะผู้บัญชาการกองเรือป้องกันฝั่งเขต 3 กองเรือป้องกันฝั่ง (ผบ.กปฝ.เขต 3 กปฝ.) ทำหน้าที่ ผู้อำนวยการ “ศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ ฝั่งอันดามัน” (ผอ.ศรภ.ทร.อม.)
พลเรือตรีศักดิ์นรินทร์ กล่าวถึงภารกิจของ “ศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ ฝั่งอันดามัน” ว่า กองทัพเรือได้เข้าตรวจพื้นที่ต่าง ๆ โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ เพื่อขอใช้พื้นที่จัดตั้งศูนย์ฯ และหน่วยรักษาความปลอดภัยทางทะเล ที่มีนักท่องเที่ยวและประชาชนหนาแน่น มีความล่อแหลมที่จะเกิดอุบัติเหตุ และมีปัญหาต่อการปฏิบัติภารกิจ รวมทั้งการจัดหาอุปกรณ์ประจำศูนย์ฯ
ในส่วนของการเตรียมการด้านกำลังพล กองทัพเรือ มอบหมายให้ กองเรือป้องกันฝั่ง เขต 3 (กปฝ.) เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบการฝึกกำลังพล เพื่อปฏิบัติงานประจำศูนย์ฯ โดยหลักสูตรจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล การปฐมพยาบาล และการส่งกลับ ซึ่งเริ่มเปิดทำการพื้นที่แรกตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2548 บริเวณหาดป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2548 ได้เปิดทำการบริเวณเขาหลัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นพื้นที่ถัดมา และกำลังดำเนินการก่อสร้างหน่วยเพิ่มเติมที่หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน อ่าวพังงา จ.พังงา และเกาะลันตาน้อย อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนมิถุนายน 2550
สำหรับขอบเขตความรับผิดชอบนั้น มีการจัดกำลังพล เรือ อากาศยาน และอุปกรณ์อื่น ๆ เฝ้าตรวจ และช่วยเหลือประชาชน นักท่องเที่ยวบริเวณที่มีการท่องเที่ยว และการเดินเรือหนาแน่น โดยเน้นการปฏิบัติในทะเล ซึ่งเกินขีดความสามารถของ Beach Guard ที่ดำเนินการโดยองค์กรท้องถิ่นในพื้นที่ และจัดตั้งศูนย์รักษาความปลอดภัยในพื้นที่ 4 จังหวัดหลัก คือ จังหวัดระนอง จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดสตูล
พลเรือตรีศักดิ์นรินทร์ ยังกล่าวถึงหน่วยรักษาความปลอดภัยทางทะเลด้วยว่า มี 8 พื้นที่ย่อย คือ หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน บ้านเขาหลัก หาดป่าตอง หมู่เกาะอาดัง-ราวี (เกาะหลีเป๊ะ) ท่าเรือตำมะลัง เกาะพีพีดอน และ เกาะลันตาน้อย หรือบริเวณใกล้เคียง เพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่ นักท่องเที่ยว เรือท่องเที่ยว ประชาชนทั่วไปที่ใช้ทะเล เพื่อการต่าง ๆ ตั้งแต่ระยะ 500 เมตร จากแนวฝั่งออกไปในทะเล และค้นหา ทำการรักษาพยาบาล เพื่อช่วยชีวิต ผู้ประสบภัยเบื้องต้น รวมทั้ง เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุต่างๆ ในทะเล
ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ต มีศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ ฝั่งอันดามัน มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ กองบัญชาการ กองเรือภาคที่ 3 กองเรือยุทธการ ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต หน่วยบินรักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ (นบภ.ทร.) ตั้งอยู่ที่หมวดบินเฉพาะกิจ กองเรือภาคที่ 3 กองเรือยุทธการ ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จังหวัดภูเก็ต และหน่วยรักษาความปลอดภัย ทางทะเล กองทัพเรือ หาดป่าตอง (นรภ.ทร.หาดป่าตอง) ตั้งอยู่ที่อาคารศูนย์ช่วยเหลือ และบริการนักท่องเที่ยวหาดป่าตอง ต.ป่าตอง อ.กะทู้
ส่วนที่จังหวัดพังงา ตั้งอยู่ที่อาคารกองบัญชาการ กองเรือป้องกันฝั่งเขต 3 กองเรือป้องกันฝั่ง ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์