วิกฤตภัยแล้งทำผู้เลี้ยงกุ้งขาดทุนหนัก ยอดการผลิตตกเดือนละกว่า 100 ล้านบาท ประธานชมรมจี้รัฐเพิ่มมาตรการด้านตลาดและสายพันธุ์
นายปกครอง เกิดสุข ประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า จากที่ขณะนี้จังหวัดกระบี่กำลังประสบปัญหาเรื่องฝนทิ้งช่วง จนเป็นเหตุให้เกิดภัยแล้งมาแล้วกว่า 1 เดือน และส่อว่าเวลาที่ฝนทิ้งช่วงจะต่อเนื่องไปอีกหลายเดือน จนทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ที่ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 7 พันไร่ ต้องประสบกับปัญหาหลายอย่าง
เช่น โรคหัวแดง โรคตับอักเสบ โรคหัวเหลือง และจากปัญหาดังกล่าวได้เกิดขึ้นในช่วงหน้าแล้งของทุกปี จนทำให้ขณะนี้ยอดผู้เลี้ยงกุ้งต้องหยุดเลี้ยงไปกว่าครึ่งหนึ่ง และยังทำให้ยอดการผลิตกุ้งเพื่อการส่งออกลดลงถึงเดือนละ 100 ล้านบาท ตลอดในในช่วงภัยแล้งนี้
นายปกครอง กล่าวอีกว่า ในส่วนของปัญหาที่ทางชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจะต้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ ก็คือ เรื่องที่ทางประเทศออสเตรีเลียสั่งระงับการนำเข้ากุ้งจากประเทศไทย อันเนื่องจากมีการตรวจพบว่ากุ้งของไทยนั้นมีโรคอยู่หลายชนิดดังที่กล่าวมา จนทำให้กระแสข่าวดังกล่าวนี้มีผลต่อตลาดส่งออกของไทย โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ที่สามารถรองรับกุ้งได้ถึง 60% รวมทั้งประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เพราะหากหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ ไม่เข้ามาช่วยเหลือโดยการลดกระแสดังกล่าว ก็เกรงว่า ตลาดผู้ซื้อกุ้งจะสั่งระงับการนำเข้าเพิ่มอีกในหลายประเทศ รวมทั้งเรื่องของสายพันธุ์ที่รัฐจะต้องมีความชัดเจน เพราะที่ผ่านมานั้นเกษตรกรต้องประสบกับปัญหานี้เช่นกัน
“ในส่วนของพื้นที่การเลี้ยงกุ้งของจังหวัดกระบี่นั้น เป็นที่รู้กันดีว่ามีความเหมาะสมมากที่สุดของประเทศโดยยอดการส่งออกของปี 2549 ที่ผ่านมา สามารถส่งออกกุ้งได้ถึง 3 หมื่นล้านบาท และในปีนี้ ยังเชื่อว่า ยอดการส่งออกจะต้องเพิ่มจากเดิม แต่เมื่อเกิดปัญหาในเรื่องของตลาดส่งออกกับประเทศคู่ค้าก็เกรงว่าจะทำให้ยอดการส่งออกต้องลดลงบ้าง ยิ่งได้เกิดภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรง ก็ทำให้ยอดการส่งออกกุ้งลดน้อยลงตามลำดับ จากเดิมที่เคยส่งออกเดือนละ 500 ล้านบาท คงเหลือที่ 300-400 ล้านบาทเท่านั้น ทั้งนี้ เนื่องจากปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้น ฉะนั้น สิ่งที่ทางชมรมจะต้องพี่งพาภาครัฐ ก็คือ เรื่องของการพัฒนาสายพันธุ์ และการประชาสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้าอย่างจริงจังและต่อเนื่อง”
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์