กระบี่, NGO เรียกร้องให้ยุติขุดลอกร่องน้ำศรีบอยา ( ข่าวกระบี่ )
ฬนายอาหลี ชาญน้ำ คณะอนุกรรมการศึกษาโครงการขุดลอกร่องน้ำศรีบอยา กล่าวว่า จากการที่ได้มีการประชุมเพื่อหาข้อยุติในการขุดลอกร่องน้ำศรีบอยา ณ ห้องประชุมโรงแรมเวียงทอง อ.เมืองกระบี่ โดยมีนายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานในการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาโครงการขุดลอกร่องน้ำศรีบอยาของจังหวัด โดยมี กฟฝ.เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ เพื่อหาข้อยุติกรณีที่ได้มีการร้องเรียนว่าโครงการดังกล่าว ซึ่งอยู่ในเขตตำบลตลิ่งชัน และ ต.เกาะศรีบอยา อ.เหนือคลอง อ.เมือง จ.กระบี่ ส่งผลกระทบทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่ เบื้องต้นจังหวัดได้ระงับการดำเนินโครงการดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า 5 เดือน
สำหรับการประชุมได้มีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ นายไพบูลย์ สุวรรณบริบาล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าภาคใต้ นายสุริยา กิตติมณฑล หัวหน้าสำนักงานขนส่งทางน้ำที่ 5 สาขากระบี่ นายอาทิตย์ ละเอียดดี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกระบี่ ตัวแทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนายสุริยะ บุษบงค์ นายกอบต.เกาะศรีบอยา โดยในที่ประชุมมีหลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นที่แตกต่างกันโดยเฉพาะตัวแทนคนในพื้นที่เกาะศรีบอยาต้องการที่จะให้ยุติโครงการดังกล่าว
นายอาหลี กล่าวอีกว่า หลังจากที่จังหวัดได้สั่งระงับโครงการขุดลอกร่องน้ำศรีบอยาได้ประมาณ 5 เดือน ชาวบ้านในพื้นที่ ต.เกาะศรีบอยา และตำบลตลิ่งชันต้องการที่จะให้ยุติโครงการดังกล่าวเสีย โดยไม่ต้องรอศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป เพราะเชื่อว่าหากปล่อยให้มีการขุดลอกร่องน้ำต่อไปก็จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรที่อยู่บริเวณดังกล่าวอย่างแน่นอน และหลังจากที่ได้มีการขุดลอกคลองไปได้ระยะหนึ่ง
ชาวบ้านในพื้นที่พบว่าที่บริเวณที่มีการขุดลอกร่องน้ำมีหญ้าทะเลลอยขึ้นมาจำนวนมาก ทำให้ชาวประมงไม่สามารถวางอวนจับปลาได้ นอกจากนั้น ชาวบ้านยังได้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมถึงต้องมีการขุดลอกร่องน้ำที่ คลองเกาะศรีบอยาด้วย เพีงแค่คาดการณ์ว่าต่อไปจะมีการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไปยังต่างประเทศ ซึ่งถ้าจะมีการส่งออกขึ้นมาจริงๆ ก็ควรจะหาเส้นทางที่มีความเหมาะสมมากกว่านี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ เพราะขณะที่ยังไม่มีการขนส่งน้ำมันปาล์ม เรือขนน้ำมันของการไฟฟ้าก็เคยชนกับเรือประมงของชาวบ้านมาแล้ว
นายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบโครงการขุดลอกร่องน้ำศรีบอยา กล่าวว่า ขอให้ผู้รับผิดชอบโครงการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยผ่านกระบวนการ EIA ก่อน และจะประชุมหารือกันอีกครั้ง เพื่อหาข้อยุติและขอให้ดูกรณีท่าเทียบเรือน้ำลึกที่จังหวัดสงขลา โดยมีการสร้างกำแพงน้ำตื้นกันคลื่น ทั้งที่ก่อนดำเนินโครงการนั้นได้มีการคำนวณทางด้านเทคนิคเป็นอย่างดีแล้วแต่ยังมีผลกระทบจนได้ ทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการประชุมหารือกันอีกครั้งเพื่อหาข้อยุติ โดยอาจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่แทนคณะอนุกรรมการชุดเดิมแต่ต้องดูที่ความเหมาะสมและตนได้นำเสนอแนวทางในการในการหาข้อยุติในเรื่องนี้ว่า 1.ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบแจ้งให้ท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นโครงการดังกล่าวด้วยแต่ที่ผ่านมาแม้แต่ อบต.เองก็ยังไม่ทราบเรื่อง 2.ขอให้มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยผ่านกระบวนการ EIA เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาผลกระทบแต่อย่างใด และ 3.หากมีการขนส่งน้ำมันปาล์มไปยังต่างประเทศ ควรจะรอให้น้ำขึ้นก่อนแล้วค่อยเดินเรือก็ได้ หรือไม่ก็หาเส้นทางที่มีความเหมาะสม ทางต่างฝ่ายต่างปฏิบัติตามกติกาที่วางเชื่อว่าน่าจะหาข้อยุติได้
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์