กระบี่, โรงงานปาล์มปล่อยน้ำเสียยอมจ่ายค่าเสียหายกระชังปลา 16 ราย ( ข่าวกระบี่ )
โรงงานปาล์มปล่อยน้ำเสีย รับทุกเงื่อนไข เบื้องต้นยอมจ่ายค่าเสียหายผู้เลี้ยงปลากระชัง 16 ราย เป็นเงินกว่า 2 ล้านบาท จังหวัดเตรียมสรุปความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเสนอให้ทางโรงงานฟื้นฟูต่อไป
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (13 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดกระบี่ นายชาย พานิชพรพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานการประชุมตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจาก อ.เวียงสระ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ประมาณ 20 คน จากเหตุที่โรงงานปาล์มไทยอินโด ปาล์มออยล์ แฟกทอรี่ จำกัด ตั้งอยู่ อ.ลำทับ จ.กระบี่ ปล่อยน้ำเสียลงคลองสินปุน ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำตาปี จ.สุราษฎร์ธานี ทำให้น้ำเสียขยายเป็นวงกว้างไปถึง จ.สุราษฎร์ธานี
รวมทั้งเป็นเหตุให้ปลาที่อยู่ตามลำน้ำธรรมชาติในลำคลอง และที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ในกระชังตายเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน และได้เดินทางมาที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดกระบี่ เพื่อสอบถามถึงความชัดเจนจากเจ้าของโรงงาน ในด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน หลังจากที่เคยได้ร่วมประชุมไปครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา
นายชาย พานิชพรพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ในฐานะประธานการประชุม กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมเพื่อรับทราบความเสียหายจากส่วนภาคเอกชน เพื่อให้ทางโรงงานชดค่าเสียหาย ซึ่งสามารถสรุปได้ว่าผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรงงานปล่อยน้ำเสียมีทั้งหมด 16 ราย คิดเป็นเงินที่ทางโรงงานต้องจ่ายมีมูลค่าประมาณ 2 ล้านเศษ ซึ่งทางโรงงานก็ยินดีที่จะชดใช้ค่าเสียหายให้ทุกกรณี แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง และเพื่อเป็นการสบายใจกันทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งจากฝ่ายผู้เสียหาย และฝ่ายโรงงาน ซึ่งเป็นผู้ชดใช้ค่าความเสียหาย
โดยทางจังหวัดได้แต่งตั้งคณะทำงานเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงความเสียหาย ประกอบด้วย ทั้งจากฝ่ายเจ้าของโรงงาน ผู้ที่เสียหาย ผู้นำชุมชน และฝ่ายวิชาการจากภาครัฐ รวม 8 คน โดยจะลงพื้นที่ตรวจสอบในวันที่ 19 ธันวาคม หลังจากนั้นจะมีการชดใช้ความเสียหาย ภายใน 30 วัน
รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวต่อไปว่า สำหรับน้ำเสียที่ส่งไปตรวจสอบที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงานภาคใต้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ผลก็ได้ออกมาแล้วปรากฎว่าน้ำเสียที่หลุดออกไปจากโรงงานมีประมาณ 1 หมื่นคิว แต่ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน มีแต่เพียงค่า บีโอดี ซึ่งเป็นเหตุทำให้ปลาตาย แต่ก็ได้รับการยืนยันว่าปลาที่ตายจากน้ำเสียในครั้งนี้ สามารถที่จะนำมาเป็นอาหารได้ โดยไม่เกิดอันตรายแก่ร่างกาย และในส่วนของโรงงานก็ให้ทำการปรับปรุงบ่อบำบัดน้ำเสียให้ได้มาตรฐาน จึงจะอนุญาตให้เปิดทำการได้ และโรงงานนี้ถือว่าเป็นกรณีแรกในจังหวัด ที่ได้รับโทษจากการปล่อยน้ำเสียลงคลอง ซึ่งอยากขอฝากไปยังผู้ประกอบโรงงาน ควรจะระวังให้มากเพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาจะได้ไม่เท่าเสีย
นายชาย กล่าวอีกว่า นอกจากทางโรงงานต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ภาคเอกชนแล้ว ยังจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับทางภาครัฐด้วยในเรื่องการฟื้นฟูด้านสิ่งแวดล้อม โดยขณะนี้ได้ให้ทางสำนักสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต เข้าไปสำรวจความเสียหาย แล้วจะนำมาสรุปว่ามีสิ่งใดบ้างที่ได้รับความเสียหาย แล้วนำมาสรุปเพื่อให้ทางโรงงานเข้ามาชดใช้ค่าเสียหายต่อไปอีกด้วย
นายยุทธพงษ์ สุวรรณเมนะ นายกเทศบาลตำบลย่านดินแดง อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี ในฐานะตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่า จากการที่ได้ร่วมประชุมกับทางจังหวัดและเจ้าของโรงงาน ก็ได้ข้อสรุปเป็นที่น่าพอใจ ในส่วนของความเสียหายทางเทศบาลก็จะกลับไปทำโครงการปรับปรุงต่อไป โดยจะขอความร่วมมือไปยังศูนย์เพาะพันธุ์ประมงน้ำจืดในการช่วยเหลือด้านพันธุ์ปลา เพื่อนำมาปล่อยทดแทนปลาที่เสียหายไปจากเหตุการณ์น้ำเสีย
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์