ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งกระบี่ ประสบความสำเร็จเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนเชิงพาณิชย์ พร้อมพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป
นายสามารถ เดชสถิต นักวิชาการประมง 6 ศูนย์วิจัย และพัฒนาประมงชายฝั่งทะเลกระบี่ กล่าวว่า ขณะนี้ทางศูนย์ฯได้ทำการวิจัยและเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูน จนประสบความสำเร็จ โดยบางส่วนได้นำออกจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจ
นอกจากนี้บริเวณศูนย์วิจัย ยังได้เปิดให้นักท่องเที่ยวและประชาชนได้เข้าชม เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่ง นอกจากนั้นศูนย์ฯยังได้รับงบประมาณสนับสนุนจากซีอีโอ ในการปรับปรุงพื้นที่ภายในศูนย์ เพื่อให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ และเป็นจุดชมปลา
นายสามารถ กล่าวอีกว่า ศูนย์ฯได้เพาะพันธุ์ปลาการ์ตูนมาตั้งแต่ปี 2543 และประสบความสำเร็จเมื่อประมาณ ปี 2546 โดยได้ดำเนินการเพาะหลายสายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ ในเชิงพาณิชย์ เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ค้าปลาและประชาชนทั่วไป นำไปเลี้ยง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ นอกจากนี้การเพาะพันธุ์ปลาการ์ตูน สามารถลดปริมาณการลักลอบจับในท้องทะเล ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เชื่อว่าคงจะลดลงในระดับหนึ่ง
?สำหรับการจำหน่ายภายในศูนย์ จำหน่ายในราคาต่อตัว/นิ้ว ละ 7 บาท แต่หากว่าเป็นสายพันธุ์จากต่างประเทศ ราคาก็จะสูงขึ้นไปตามชนิด อย่างไรก็ตามขณะนี้มีภาคเอกชนสนใจเพาะพันธุ์แล้วหลายราย แต่ไม่ได้เป็นคนในจังหวัดกระบี่ หากว่ามีการเพาะเลี้ยงกันมากก็จะทำให้ตลาดกว้างขึ้นและจะช่วยลดการลักลอบจับลงได้อีกทางหนึ่ง และในอนาคตอันใกล้นี้ตลาดปลาการ์ตูน จะกว้างขึ้นอีกมากเนื่องจากกระทรวงพานิชย์ ประกาศให้สามารถนำออกจำหน่ายในต่างประเทศ รอเพียงระเบียบที่กรมประมงกำลังดำเนินการ เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยปลาการ์ตูนจะเป็นสินค้าส่งออกอีกชนิดหนึ่ง?
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์