ภาคเอกชนใน จ. ระนอง ประสานเสียง ปี 51 รัฐบาลเหนื่อยกับการกอบกู้เศรษฐกิจ
นายกฤษณะ เอี่ยมวงศ์นที รองประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ และประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ระนอง เปิดเผยถึงสภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในปี 2551 ว่า แม้ว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่ แต่คงจะไม่มีผลต่อภาคธุรกิจมากนัก เนื่องจากมีปัญหาเก่าที่ค้างคาจำนวนมากที่รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องเร่งสะสางก่อนเป็นลำดับแรก
ส่วนนโยบายเศรษฐกิจใหม่ กว่าจะเข้ารูปเข้ารอยก็น่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี จึงจะเห็นผล ดังนั้น นักธุรกิจหลายคนจึงมีความเห็นตรงกันว่า ในปี 2551 จะเป็นอีกปีที่สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะยังมีปัญหา ซ้ำร้ายในหลายๆ กลุ่มธุรกิจยังมีอาการที่น่าเป็นห่วง เช่น กลุ่มผู้ประกอบการส่งออก และกลุ่มประมง ที่ต่างได้รับผลกระทบหนักจากปัจจัยลบที่รุมกระหน่ำ ทั้งปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น, การขาดแคลนแรงงาน และปัญหาจากราคาน้ำมันที่ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบในทุกๆ ด้าน
ผู้ประกอบการจำเป็นจะต้องวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ความต้องการ รวมถึงการหาทางลดค่าใช้จ่าย และการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาค คงจะพอที่จะช่วยประคับประคองให้ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมอยู่รอดต่อไปได้
ส่วนภาคธุรกิจที่ทุกคนลงความเห็นตรงกันว่า น่าจะมีแนวโน้มดีที่สุด คือ ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่คงจะเป็นภาคธุรกิจหลักที่สำคัญ ในการที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศ และภาคใต้ในปี 2551
ด้านนางสุดาพร ยอดพินิจ กรรมการหอการค้ากลุ่ม 6 จังหวัดอันดามัน และประธานหอการค้า จังหวัด ระนอง เปิดเผยว่า ปัญหาที่ทางหอการค้าจังหวัดต่างๆ ทั้งภาคใต้และทั่วประเทศเจอ คือ การชะลอการใช้จ่ายของประชาชน เนื่องจากมีความกังวลถึงภาวะการครองชีพที่สูงขึ้น อีกทั้งกังวลต่อปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาราคาน้ำมัน และปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งเข้ามาแก้ไขและดูแลอย่างเร่งด่วน หากต้องการให้การบริโภคกลับมาฟื้นตัว และเศรษฐกิจของประเทศเดินไปข้างหน้า
ส่วนผู้ประกอบการเองสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้สามารถอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤตปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การประคับประคองตัว ชะลอการลงทุนในโครงการที่ไม่จำเป็น หาทางลดต้นทุนการผลิต เพราะเชื่อว่าไตรมาส 1-3 หรืออาจจะทั้งปีในปี 2551 เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นแน่นอน
สำหรับการค้าชายแดนช่วงปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่ตอนนี้ปัญหาที่หลายคนกังวลคือค่าเงินของพม่าที่มีความผันผวน รวมถึงการขึ้นราคาสินค้าของไทยซึ่งอาจจะกลายเป็นช่องทางให้สินค้าราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้าไปเบียดแย่งตลาดได้ ซึ่งรัฐบาลเองควรที่จะเข้ามาดูแลในจุดนี้ด้วย เพราะการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ถือเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจตามหัวเมืองชายแดนยังคงคึกคักได้บ้าง
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์