แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ในแถบ อันดามัน ( ภูเก็ต, กระบี่, ระนอง, ตรัง, พังงา, สตูล )

ระนอง, มาลาเรียระบาดหนักที่ระนอง พบผู้ป่วยไทย-พม่า แล้ว 700 คน ( ข่าวระนอง )

ข่าวระนอง : มาลาเรียระบาดหนักที่ระนอง พบผู้ป่วยไทย-พม่า แล้ว 700 คน
เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ระนอง

สำนักงานสาธารณสุขอำเภอกระบุรี และหน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 11.5.3 เร่งควบคุมโรคมาลาเรียที่กำลังระบาดในพื้นที่ หลังพบผู้ป่วยแล้วกว่า 700 คน

วันนี้ (30 พ.ค.) ประชาชนจำนวนมากทั้งคนไทยและแรงงานต่างด้าวชาวพม่า เดินทางไปเจาะเลือดเพื่อหาเชื้อมาลาเรียที่หน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงอำเภอกระบุรี จ.ระนอง ซึ่งขณะนี้โรคมาลาเรียกำลังระบาดในพื้นที่ ต.ปากจั่น จ.ป.ร.และลำเลียง ประมาณ 35 หมู่บ้าน ผู้ที่ไปให้เจ้าหน้าที่เจาะเลือดมีทุกเพศ ทุกวัย บางคนอาการหนักเดินไม่ไหว ทันทีที่ผลการตรวจพบเชื้อเจ้าเจ้าหน้าที่จะจ่ายยาให้ไปรับประทานตามตารางที่กำหนดของเชื้อแต่ละชนิด คือ ถ้าเป็นเชื้อ PV จะให้รับประทานยา 14 วัน ถ้าเป็นเชื้อ PF จะให้ทานยา 2-3 วัน หลังจากนั้น ผู้ป่วยจะต้องกลับมาเจาะเลือดซ้ำอีกครั้งหนึ่งถ้ายังพบเชื้ออยู่ก็จะจ่ายยาที่แรงขึ้นให้ต่อไปอีก

เจ้าหน้าที่หน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงอำเภอกระบุรี กล่าวว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปีจะมีผู้ป่วยมาลาเรียมากที่สุดในรอบปี มีทั้งคนไทยและคนพม่า ทุกเพศทุกวัย เชื้อที่พบมีทั้งชนิด PV และ PF บางคนมีเชื้อทั้งสองชนิด บางคนตรวจพบเชื้อมาลาเรียมากถึง 5 ครั้งก็มี

ในขณะที่ข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอกระบุรี พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคม 2550 มีผู้ป่วยมาลาเรียที่เป็นคนไทยจำนวน 741 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงเล็กน้อย เฉพาะเดือนพฤษภาคมมีผู้ป่วย 420 คน นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยที่เป็นชาวพม่า เกือบ 500 คน

นายพลายบัว เพชรทะนันท์ สาธารณสุขอำเภอกระบุรี กล่าวว่า โรคมาลาเรียถือเป็นโรคประจำถิ่น ในช่วงต้นฤดูฝนของทุกปีจะมีการระบาด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลกระบุรี หน่วยควบคุมโรคที่ติดต่อโดยแมลง สถานีอนามัย รวมทั้ง องค์การบริหารส่วนตำบล อสม. และองค์กรพัฒนาเอกชน ได้ร่วมกันรณรงค์ควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่ที่มีการระบาด ทั้งพ่นน้ำยาเคมีตามบ้านเรือน ชุบมุ้งด้วยน้ำยา ฉีดพ่นหมอกควัน รวมทั้งออกหน่วยเจาะเลือดคนหาผู้ป่วยโดยเร็วในหมู่บ้านเพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาด และการวิเคราะห์ข้อมูลและหาแนวทางในการป้องกันและควบคุมโรค

นายพลายบัว กล่าวด้วยว่า การป้องกันและควบคุมโรคในคนไทยนั้นไม่มีปัญหา แต่ที่เป็นปัญหาก็ผู้ป่วยที่เป็นแรงงานชาวพม่าโดยเฉพาะแรงงานที่ลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย จะออกมารักษาเมื่อมีอาการหนักแล้ว เพราะกลัวถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ทำให้เชื้อมีโอกาสแพร่ระบาดได้มากขึ้นเพราะเมื่อถูกยุงก้นปล่องกัดแล้ว ยุงจะบินออกหากินไปไกลถึง 2 กิโลเมตร ถ้าไปกัดใครอีกเชื้อก็จะแพร่เข้าสู่ร่างกายทำให้อาการป่วยภายใน 1-2 สัปดาห์

ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215