กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดึงเยาวชนจังหวัดระนอง ร่วมฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน หลังพบจำนวนสัตว์น้ำชายฝั่งลดลงอย่างน่าตกใจ ทั้งจากเหตุคลื่นสึนามิ-นายทุนทิ้งสารเคมีดองแมงกะพรุนลงทะเล
วันนี้ (26 มี.ค.) ที่ศาลาอเนกประสงค์บ้านทุ่งละออง ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ได้จัดโครงการ “ส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชายฝั่งอันดามัน” โดยมี นายสุขขี พิณแก้ว รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลราชกรูด เป็นประธาน
โดยมี นางธนวรรณ ทรงประกอบ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม 7 ว.กรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม สำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นวิทยากรให้ความรู้มีประชาชน และเยาวชนในพื้นที่บ้านทุ่งละออง และบ้านห้วยน้ำใส ต.ราชกรูด อ.เมืองระนอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 160 คน เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง สิทธิ หน้าที่และบทบาทของชุมชน ท้องถิ่น
นางธนวรรณ กล่าวว่า การจัดโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมชายฝั่งอันดามันส่งเสริมศักยภาพการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ ของชุมชนส่งเสริมจิตสำนึก และทักษะชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการนำของเสียชุมชน กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่และการเพิ่มมูลค่าการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน
ทั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันเมื่อช่วงปลายปี 2547 ที่ผ่านมา ทำให้จำนวนสัตว์ทะเลลดลงอย่างเห็นได้ชัด พร้อมกันนี้ แหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำเกิดความเสื่อมโทรมเรื่อยมา จากการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยและไม่ถูกวิธี
โดยเฉพาะพื้นที่บ้านทุ่งละออง และบ้านห้วยน้ำใส ต.ราชกรูด หลังจากที่มีนายทุนเข้ามารับซื้อแมงกะพรุน มีการใช้โซดาไฟ และเกลือหมักดอง เป็นจำนวนมากในพื้นที่ ทำให้สัตว์น้ำจำนวนมากหายไปจากพื้นที่ โดยเฉพาะหอยจุ๊บแจง จำเป็นต้องลงพื้นที่ เพื่อมาหาสาเหตุที่แท้จริง และการแก้ไขที่ตรงจุดร่วมกับชาวบ้าน
โอกาสเดียวกันนี้ ได้มีการมอบหอยจุ๊บแจง และหอยเม็ดขนุน จำนวน 1,400 กิโลกรัม ให้ตัวแทนชุมชนนำไปปล่อยในธรรมชาติ เนื่องจากหอยทั้ง 2 ชนิด กำลังมีปริมาณที่ลดลง เพราะมีการจับแมงกะพรุนขึ้นมา ประกอบกับบริเวณชายฝั่งมีการใช้สารเคมีในการหมักดองแมงกะพรุน จากนั้นจะปล่อยสารเคมีปนเปื้อนตกค้างลงสู่ทะเล โดยไม่ผ่านการบำบัดส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำวัยอ่อนทุกชนิดทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์