ระนอง, ศูนย์เตือนภัยแห่งชาติให้ความรู้เตือนภัยที่ระนอง ( ข่าวระนอง )
ระนอง - ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ประชุมเชิงปฏิบัติองค์ความรู้ด้านระบบการเตือนภัยที่ระนอง ครั้งที่ 2
เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้ (7 พ.ย.) ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการองค์ความรู้ด้านการระบบเตือนภัยของประเทศในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ครั้งที่ 2 เรื่องการบูรณาการแผนหนีภัยสึนามิ ที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซสระนอง โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนสถานศึกษา และตัวแทนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการเตือนภัย และการบรรเทาสาธารณภัยในจังหวัดระนองเข้าร่วมประชุม
นายเมฆินทร์ เมธาวิกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า จังหวัดระนองมีหอเตือนภัยหลักที่รับสัญญาณดาวเทียมจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ 5 จุด จังหวัดได้ดำเนินการติดตั้งเองด้วยระบบสัญญาณไร้สายคลื่นวิทยุ จำนวน 44 ชุด โดยมีแม่ข่าย 5 ชุด ติดตั้ง ณ ที่ว่าการอำเภอ/กิ่งอำเภอ นอกจากนี้ ได้ติดตั้งป้ายเตือนภัยสึนามิ 352 ชุด
พลเรือตรี ถาวร เจริญดี รองผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ติดตั้งหอเตือนภัยสึนามิใน 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามันแล้ว 99 จุด นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งเครือข่ายระบบถ่ายทอดข้อมูลสัญญาณเตือนภัยผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย หรือ สวท.ทุกสถานีด้วย และในวันที่ 28 พฤศจิกายน ถึง 4 ธันวาคม 2549 จะมีการติดตั้งทุ่นเตือนภัยตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดียบริเวณนอกหมู่เกาะอันดามันห่างจากฝั่งจังหวัดภูเก็ต ประมาณ 1,000 กิโลเมตร โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลอเมริกากับรัฐบาลไทย ซึ่งเมื่อติดตั้งเสร็จทุกประเทศในแถบมหาสมุทรอินเดีย จะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ศาสตราจารย์ อัปสรสุดา ศิริพงศ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ป่าชายเลนถือเป็นกำแพงธรรมชาติที่สามารถป้องกันคลื่นได้ดีที่สุด จะเห็นได้ว่า การเกิดคลื่นสึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 พื้นที่ใดที่มีป่าชายเลนหนาแน่นจะทำให้ได้รับความเสียหายน้อย ดังนั้น จึงควรจะช่วยกันปลูกป่าชายเลนให้มากขึ้น
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์