ศูนย์บริหารศัตรูพืช เร่งกำจัดแมลงดำหนาม ที่กำลังระบาดในต้นมะพร้าวที่จังหวัดระนอง
หลังจากที่พบการระบาดของแมลงดำหนามทำลายยอดอ่อนมะพร้าวในพื้นที่ตำบลทรายแดง อ.เมืองระนอง ประมาณ 500 ไร่ ศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดระนอง ได้เร่งกำจัดแมลงดำหนาม โดยการนำตัวแมลงแตนเบียนอะซิโคเดสในระยะดักแด้ ซึ่งได้จากการเพาะเลี้ยงที่อาศัยอยู่ในซากของแมลงดำหนามมะพร้าวที่เรียกว่า มัมมี่ ไปใส่ในลูกบอลพลาสติกที่เจาะรู มอบให้เกษตรกรไปแขวนในสวนมะพร้าวที่มีแมลงดำหนามระบาด ซึ่งหลังจากแตนเบียนตัวเต็มวัยที่ฟักออกจากมัมมี่แล้ว ก็จะบินขึ้นไปทำลายหนอนแมลงดำหนามที่ยอดมะพร้าว และแพร่ขยายพันธุ์ต่อไป เป็นการใช้ธรรมชาติกำจัดกันเอง
นายกฤษฎา นิคมรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า สำหรับเกษตรกรที่ยังไม่รู้ว่ามะพร้าวมีแมลงดำหนามระบาดหรือไม่ ให้ดูที่ยอดมะพร้าวว่ามีสีน้ำตาลหรือไม่ ถ้ามีสีน้ำตาลแสดงว่าแมลงดำหนามกำลังระบาดอยู่ หากพบการระบาดให้รีบติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่เกษตรอำเภอและเกษตรจังหวัด เพื่อจะได้นำแตนเบียนไปปล่อยในสวน ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานนับเดือนจึงจะควบคุมได้ ส่วนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แตนเบียนนั้นต้องนำเข้ามาจากประเทศเวียดนาม เพื่อนำมาใช้กำจัดแมลงดำหนามโดยเฉพาะ โดยจะไม่มีผลกระทบต่อแมลงอื่นๆ
นายกฤษฎา กล่าวด้วยว่า แมลงดำหนามมะพร้าว พบการระบาดในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อประมาณปี พ.ศ.2542 ที่จังหวัดนราธิวาส ซึ่งคาดว่าน่าจะติดมาจากการที่นำต้นปาล์มชนิดต่างๆ จากต่างประเทศเข้ามา เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม เป็นต้น ส่วนในจังหวัดภาคใต้ตอนบนพบการระบาดเมื่อปี พ.ศ.2546 ในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และอีกหลายจังหวัดทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน
รวมทั้งภาคกลางและภาคตะวันออกด้วย ซึ่งแมลงดำหนามจะระบาดในพืชตระกูลปาล์มทุกชนิด และสิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ คือ กำลังมีการระบาดไปยังปาล์มน้ำมันของเกษตรกร ซึ่งในอนาคตหากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในภาคใต้เป็นอย่างมากเพราะปาล์มน้ำมันถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ด้วย
นายชิงชัย เพชรพิรุณ เกษตรจังหวัดระนอง กล่าวว่า จังหวัดระนองมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวประมาณ 8,000 ไร่ ให้ผลผลิตรวมประมาณ 10,360 ตันต่อปี พื้นที่ตำบลทรายแดงถือว่าเป็นพื้นที่ปลูกมะพร้าวที่สำคัญของจังหวัดด้วย จึงจำเป็นต้องเร่งควบคุมการระบาดของแมลงดำหนาม สำหรับพื้นที่อื่นๆ ได้ให้เกษตรอำเภอได้สำรวจว่ามีการระบาดหรือไม่ ถ้าพบการระบาดก็จะเข้าไปควบคุมทันทีเพื่อไม่ให้ลุกลามกินพื้นที่กว้างขึ้น ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากเกษตรกรด้วย
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์