?สมิทธ? ชี้อีก 5 ถึง 10 ปี ต้องเฝ้าระวังแผ่นดินไหวทั้งในมหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิก เผยติดตั้งระบบเตือนภัยในอันดามันเรียบร้อยหมดแล้ว
วันนี้ (7 ก.ย.) ที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซสระนอง ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดการประชุมโครงการสร้าง องค์ความรู้ในด้านระบบการเตือนภัยของประเทศในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ให้แก่นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่เสี่ยงภัยสึนามิจังหวัดระนอง เพื่อเน้นให้ทราบถึงวิธีการปฏิบัติงานของศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความร่วมมือในการพัฒนาระบบเตือนภัย
โดยมี นายสมิทธ ธรรมสโรช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการประชุม และบรรยายเรื่องภัยธรรมชาติและระบบการเตือนภัย
นายสมิทธ กล่าวว่า เมื่อครั้งที่เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ พัดถล่มเกาะปาปัวนิวกินี เมื่อ 14 ปีที่แล้ว ตนได้ออกมาเตือนภัยเป็นคนแรกให้ประเทศไทย เฝ้าระวังคลื่นยักษ์สึนามิ แต่ก็ไม่มีใครสนใจ ถ้าหากเราเริ่มดำเนินการในช่วงนั้น ความเสียหายจากคลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 จะไม่มากมายถึงเพียงนี้
อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาล ได้มีการจัดตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติขึ้น เพื่อเฝ้าระวังภัยพิบัติต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ทั้งสึนามิ พายุ ดินโคลนถล่ม แผ่นดินไหว น้ำป่าไหลหลาก เป็นต้น
นายสมิทธ กล่าวด้วยว่า ที่จริงแล้ว ประเทศไทย เคยประสบกับคลื่นยักษ์สึนามิมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.2426 ซึ่งเกิดจากภูเขาไฟระเบิดอย่างรุนแรง นอกชายฝั่งเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 36,000 คน แต่ในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่ได้มีการจดบันทึก
ฉะนั้น นับจากนี้ไปประชาชนต้องเรียนรู้ธรรมชาติให้มากขึ้น ต้องปรับตัวให้เข้ากับภัยพิบัติตามธรรมชาติต่างๆ เพื่อความอยู่รอด หากปรับตัวไม่ได้ก็จะสูญพันธุ์เหมือนกับไดโนเสาร์ โดยเฉพาะใน 5 ถึง 10 ปี ข้างหน้านักวิทยาศาสตร์มีการเฝ้าระวังแผ่นดินไหว ตามแนวรอยเลื่อนในมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งในมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนใต้ของประเทศฟิลิปปินส์ ล้วนแล้วแต่เคยเกิดแผ่นดินไหวในอดีตมาแล้วทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะเกิดคลื่นสึนามิได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ติดตั้งหอเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย 6 จังหวัดชายฝั่งอันดามันเรียบร้อยแล้ว แต่หากพื้นที่ใดต้องการเพิ่มเติมก็ให้จังหวัดเสนอไปยังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติจะได้ขออนุมัติดำเนินการติดตั้งเพิ่มเติมให้
นอกจากนี้ ปลายปีนี้จะมีการติดตั้งหอเตือนภัย ในจังหวัดชายฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดนราธิวาส ไปจนถึง จังหวัดตราด รวม 51 ชุด และในปีหน้าจะดำเนินการในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 110 ชุด และภาคกลาง 27 ชุด ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด
นายเมฆินทร์ เมธาวิกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า จังหวัดระนองมีหอเตือนภัยหลักที่รับสัญญาณดาวเทียม จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ 5 ชุด จังหวัดได้ดำเนินการติดตั้งเองด้วยระบบสัญญาณไร้สายคลื่นวิทยุ จำนวน 44 ชุด โดยมีแม่ข่าย 5 ชุด ติดตั้ง ณ ที่ว่าการอำเภอ/กิ่งอำเภอ นอกจากนี้ได้ติดตั้งป้ายเตือนภัยสึนามิ 352 ชุด และซ้อมอพยพประชาชนในปีนี้แล้ว 1 ครั้ง
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์