ระนอง, เปิดแล้ว ?ท่าเรือน้ำลึกระนอง? เตรียมทุ่ม100ล้านพัฒนาระบบ ( ข่าวระนอง )
?ภูมิธรรม? เปิดท่าเรือระนองขนาด 12,000 ตันกรอส รองรับขนส่งสินค้าระหว่างประเทศฝั่งทะเลอันดามัน การท่าเรือฯ ทุ่มอีก 100 ล้านบาท พัฒนาระบบให้ได้มาตรฐานเท่าท่าเรือกรุงเทพ
วันนี้( 21 ก.ค. 2549) นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดท่าเรือระนอง ระยะที่2 ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 บ้านเขานางหงส์ ต.ปากน้ำ อ.เมืองระนอง เพื่อรองรับเรือบรรทุกสินค้าขนาด 12,000 ตันกรอส ใช้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศฝั่งอันดามัน โดยมีเป้าหมายเพื่อทำการค้ากับประเทศพม่า และกลุ่มประเทศแถบเอเชียใต้ หรือ BIMSTEC โดยมีการส่งออกสินค้าทางเรือเป็นเที่ยวปฐมฤกษ์ด้วย โดยมีผู้ประกอบการเดินเรือ ผู้ส่งออก และเอกอัครราชทูต เข้าร่วมพิธี
นายภูมิธรรม กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ ต่อนโยบายการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการค้ากับต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือของเขตการค้าเสรีอาเซียน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง และความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับกลุ่มอนุภาค BIMSTEC ซึ่งทั้ง 3 ภูมิภาคนี้นับเป็นตลาดใหญ่มีประชากรกว่า 3 พันล้านคน และประเทศไทย มีโอกาสและศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางของเขตภูมิภาคดังกล่าว ทั้ง 3 ในด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน
กระทรวงคมนาคม ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาระบบขนส่ง รวมถึงการพัฒนาโลจิสติกส์ทั้งระบบเพื่ออำนวยความสะดวกและดลต้นทุนในการนำเข้าวัตถุดิบ และส่งออกสินค้าเชื่อมโยงทั้ง 3 ภูมิภาค จึงได้ลงทุนพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมขนส่งให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น
นายภูมิธรรม กล่าวด้วยว่า รัฐบาลได้มุ่งที่จะพัฒนาท่าเรือสำคัญต่าง ๆ ให้เป็นประตูเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญ ซึ่งนอกจากท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง ที่เป็นท่าเรือหลักของประเทศแล้ว รัฐบาลยังได้เปิดประตูการค้าสู่ภูมิภาคอินโดจีนและประเทศจีนตอนใต้โดยการพัฒนาท่าเรือเชียงแสนและท่าเรือเชียงของ จังหวัดเชียงราย ขณะเดียวกันก็ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาท่าเรือทางภาคใต้ คือ ท่าเรือระนอง ซึ่งจะเป็นประตูการค้าที่สำคัญแห่งใหม่ทางฝั่งทะเลอันดามันของไทย ที่จะช่วยให้ผู้ส่งออกมีทางเลือกที่จะส่งสินค้าไปยังประเทศในกลุ่ม BIMSTEC ซึ่งปัจจุบัน มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและในปริมาณมาก ด้วยระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น
นายภูมิธรรม ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เมื่อการพัฒนาท่าเรือพร้อมกับระบบโครงข่ายเชื่อมโยงภายในประเทศที่สมบูรณ์ทั้งถนน รถไฟ และทางน้ำ แล้วเสร็จสมบูรณ์ ท่าเรือระนองจะสามารถเชื่อมโยงกับท่าเรือเชียงแสนทางภาคเหนือ และท่าเรือแหลมฉบังทางภาคตะวันออก ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงในรูปสามเหลี่ยม เพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศทั้งฝั่งแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย และภาคใต้ของจีนต่อไปในอนาคต ทำให้ท่าเรือระนอง เป็นท่าเรือที่มีบทบาทสำคัญของประเทศและของภูมิภาคต่อไป
นายเมฆินทร์ เมธาวิกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวว่า ท่าเรือระนอง เดิมเป็นท่าเรืออเนกประสงค์ขนาด 500 ตันกรอส ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2546 รัฐบาลมีนโยบายเรื่องการขนส่งทางน้ำ และให้กลุ่มจังหวัด และจังหวัดจัดทำวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศฝั่งอันดามัน จังหวัดระนองจึงได้เสนอแผนให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี ปรับปรุงและขยายท่าเทียบเรือระยะที่ 2 ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อให้สามารถรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาด12,000 ตันกรอสได้ โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้ามาบริหารจัดการตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา
ในส่วนของจังหวัดระนอง และกลุ่มจังหวัด ได้ผลักดันพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคม-ขนส่ง ระหว่างจังหวัดชุมพร และสุราษฎร์ธานี เพื่อเชื่อมโยงสู่ท่าเรือระนอง โดยให้กรมทางหลวง เสนอแผนการปรับปรุงถนนเพชรเกษมระหว่างชุมพร-ระนอง และหลังสวน-ระนอง เป็นสี่ช่องจราจร นอกจากนี้ยังได้สร้างลานวางตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ ที่สถานีรถไฟบ้านวิสัย อ.สวี จ.ชุมพร เพื่อลดต้นทุนในการขนส่งตู้สินค้าจากภาคอื่น ๆ สู่ท่าเรือระนอง
ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง กล่าวด้วยว่า ในอนาคตเชื่อมั่นว่า ท่าเรือระนองถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะสามารถลดต้นทุนในการขนส่งและระยะเวลาในการเดินเรือ ในการนำเข้าและส่งออกสินค้าไปยังประเทศแถบเอเชียใต้ และตะวันออกกลางโดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา นอกจากนี้ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ใช้ท่าเรือระนองเป็นฐานสนับสนุนการส่งอุปกรณ์สำรวจ และขุดเจาะแก็สธรรมชาติและปิโตรเลียมที่ได้รับสัมปทานในอ่าวเมาะตะมะ ของพม่าด้วย
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รักษาการแทนผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การท่าเรือฯ ได้เตรียมความพร้อมในการบริหารกิจการท่าเรือระนอง ให้ได้มาตรฐานระดับเดียวกับท่าเรือกรุงเทพ โดยได้จัดสรรงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือทุ่นแรงมาให้บริการยกขน เคลื่อนย้าย สินค้าและตู้สินค้า รวมทั้งการจัดซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 100 ล้านบาท มาเสริมบริการ พร้อมนำระบบ One Stop Service มาใช้เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็วแก่ผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ยังได้กำหนดค่าธรรมเนียมการใช้บริการ ซึ่งขณะนี้ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการสายเดินเรือ เจ้าของสินค้า และผู้ประกอบการขนส่งต่างให้ความสนใจ และกำลังศึกษาวางแผนงานด้านการตลาดและปฏิบัติการเพื่อเปิดเส้นทางการขนส่ง และเดินเรือประจำต่อไป
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์