แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ในแถบ อันดามัน ( ภูเก็ต, กระบี่, ระนอง, ตรัง, พังงา, สตูล )

ระนอง, ชาวระนองไม่ตื่นคลื่นยักษ์อินโดฯ ( ข่าวระนอง )

ชาวระนองไม่ตื่นตระหนกกับคลื่นยักษ์สึนามิหลังเกิดแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย
ชาวระนองที่เคยประสบภัยคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปลายปี 2547 ซึ่งยังคงอาศัยอยู่ในหมู่บ้านติดกับทะเลทั้งที่บ้านหาดประพาส บ้านหาดทรายขาว และบ้านทะเลนอก ตำบลกำพวน กิ่งอำเภอสุขสำราญ รวมทั้งชาวบ้านบางเบน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง ไม่ตื่นตระหนกใดๆ กับเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.2 ริกเตอร์ และทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิขึ้น นอกชายฝั่งเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อบ่ายวานนี้ (17 ก.ค.)
หลังจากรับฟังข่าวยืนยันจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติแล้ว ทำให้ชาวบ้านมั่นใจว่าคลื่นยักษ์จะไม่มาถึงประเทศไทยตามคำเตือน แต่ละคนยังคงอาศัยอยู่ในบ้านตามปกติ ไม่ได้อพยพไปไหน แต่ทุกคนก็ยังคงเฝ้าติดตามข่าวทางโทรทัศน์อย่างต่อเนื่อง
นายเดชา มาโนช สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลกำพวน กิ่งอำเภอสุขสำราญ กล่าวว่า หลังจากทราบเหตุการณ์แผ่นดินไหวแล้ว ตนได้ออกสำรวจดูชาวบ้านที่หาดประพาส หาดทรายขาวและบ้านทะเลนอก ปรากฏว่าชาวบ้านที่รับฟังข่าวสารแล้ว ไม่ได้ตื่นตระหนก หรืออพยพหนี เหมือนกับครั้งที่เคยผ่านมาแต่อย่างใด ทุกคนยังคงตามข่าวสารอยู่ที่บ้าน เพราะมั่นใจในความเชื่อมั่นของศูนย์เตือนภัยที่ติดตั้งอยู่ในแต่ละหมู่บ้าน สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถ้าสัญญาณเตือนภัยดังขึ้นทุกคนก็พร้อมที่จะอพยพไปอยู่ในที่ปลอดภัย ตามที่เคยมีการซ้อมกันไว้ทันที
ด้าน นายเจษฎา วัฒนานุรักษ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระนอง กล่าวว่า หลังจากได้รับการยืนยันจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติแล้วว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อินโดนีเซียในครั้งนี้ไม่มีผลกระทบถึงประเทศไทย ทางผู้ว่าราชการจังหวัดระนองได้แจ้งไปยังนายอำเภอ ปลัดหัวหน้ากิ่งอำเภอ ให้ประกาศเตือนประชาชนได้รับทราบ และอย่าตื่นตระหนกเพราะหากมีการแจ้งเตือนภัยสัญญาณเตือนภัยจะดังขึ้นทันที
ทั้งนี้ จังหวัดระนองมีหอเตือนภัยที่รับสัญญาณโดยตรงจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ 6 จุด หากเกิดเหตุการณ์ขึ้นสัญญาณดังกล่าวจะดังขึ้นทันที นอกจากนี้ ตามหมู่บ้านต่างๆ ทางจังหวัดได้ติดตั้งระบบสัญญาณเตือนภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิเสริมขึ้นมาอีกรวม 49 จุด ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งหมด โดย 5 จุดติดตั้ง ณ ที่ว่าการอำเภอ/กิ่งอำเภอ แห่งละ 1 จุด เพื่อเป็นแม่ข่ายเป็นระบบส่งสัญญาณกระจายเสียงไร้สายด้วยคลื่นวิทยุ
ส่วนอีก 44 จุด เป็นลูกข่ายติดตั้งระบบรับ-ส่งสัญญาณเตือนภัยเสียงไซเรนแบบไร้สายด้วยคลื่นวิทยุโดยสัญญาณทั้งหมดจะเชื่อมโยงกับหอเตือนภัยหลัก

ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215