อบจ.ภูเก็ต เตรียมงานสมโภชย่าจัน-ย่ามุก จัดแสดง แสง สี เสียง ละครสดุดีสองวีรสตรีอย่างยิ่งใหญ่ พร้อมส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์โคกชนะพม่า
นางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ภูเก็ต กล่าวถึงการจัดงานท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทรประจำปี 2550 ว่า การจัดงานดังกล่าวจะจัดขึ้นทุกปี เพื่อเป็นการเทิดทูนเกียรติและรำลึกถึงคุณงามความดีของท้าวเทพกระษัตรี–ท้าวศรีสุนทร นอกจากนี้ยังเป็นการฟื้นฟูแหล่งประวัติศาสตร์อนุสรณ์สถานถลางชนะศึก ผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทรงคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ของ จ.ภูเก็ต ให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ทั้งนี้ อบจ.ภูเก็ต กำหนดจัดงานสมโภชท้าวเทพกระษัตรี–ท้าวศรีสุนทรขึ้นในระหว่างวันที่ 11–13 มีนาคม 2550 ณ บริเวณโคกชนะพม่า (บ้านเหรียง) ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง ซึ่งจะมีการแสดง แสง สี เสียง ละครอิงประวัติศาสตร์สองวีรสตรี และกิจกรรมอื่นๆอีกมากมาย อาทิ การสาธิตการทำขนมพื้นบ้าน การจำหน่ายอาหารและผลิตภัณฑ์ OTOP รวมถึงการแข่งขันปรุงอาหารพื้นเมืองภูเก็ต ประเภท ข้าวยำ เกลือเคย น้ำพริกหยำ
ด้านอาจารย์สาวิตร พงศ์วัชร์ ผู้อำนวยการศูนย์สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต เปิดเผยว่า การแสดง แสง สี เสียง ละครอิงประวัติศาสตร์สองวีรสตรีจะทำให้เยาวชนภูเก็ตรุ่นหลังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์สำคัญของจังหวัด มีความสามัคคีและเกิดพลังรักชาติ ตลอดจนได้ร่วมกันเชิดชูเกียรติท้าวเทพกระษัตรี–ท้าวศรีสุนทร
สำหรับปี 2550 นี้ การแสดง แสง สี เสียง จะอลังการสวยงามตระการตามากขึ้นใช้นักแสดงกว่า 700 คนปรับเปลี่ยนเครื่องแต่งกายนักแสดงใหม่และปรับเปลี่ยนฉากไม่ให้ซ้ำกับปีที่ผ่านมา โดยคณะทำงานฝ่ายศิลปกรรม จะจำลองเมืองถลางในสมัยนั้นแบบสามมิติ ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าชมได้อรรถรสมากยิ่งขึ้น
ส่วนบทละครนั้นจะเพิ่มเป็น 9 ฉากโดยเริ่มตั้งแต่ฉากแรกคือ พระเจ้าผดุงเปิดศึกเก้าทัพมาตีสยามประเทศ ซึ่งนับเป็นศึกครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่มีการทำสงครามกับพม่า ฉากที่ 2 คือ กองทัพกรุง ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ที่ได้เตรียมศึกสี่ทัพเพื่อต้านศึกเก้าทัพจากพม่า
ฉากที่ 3 คือ ถิ่นถลาง ที่จะกล่าวถึงความสันติสุขของชาวเมืองถลาง ความรุ่งเรืองที่มีสัมพันธไมตรีกับเมืองต่างๆ ฉากที่ 4 คือ ฉากกลางไฟสงคราม เป็นช่วงเวลาที่สยามประเทศเริ่มเกิดความแตกแยก กรุงรัตนโกสินทร์จะส่งพระยาพิพิธโภคัย มาจับกุมตัวพระยาเมืองถลางที่ไม่ส่งดีบุกให้กับเมืองกรุง ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่พระยาเมืองถลางกำลังป่วย
ฉากที่ 5 คือ ฉากยามทุกข์ เป็นฉากที่พระยาเมืองถลางสิ้นชีวิตลง สร้างความเศร้าโศกให้กับคุณหญิงจันเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันพม่าก็กำลังยกทัพใกล้เมืองถลางเข้ามาเต็มที ส่วนพระยาพิพิธโภคัยก็เดินทางมาถึงเมืองถลางเพื่อควบคุมตัวคุณหญิงจันไปยังเมืองกรุง ผ่านค่ายปากพระ ซึ่งเป็นฉากที่ 6 และบังเอิญเจอกับกองทัพพม่า
โดยฉากนี้จะแสดงถึงความชาญฉลาดของคุณหญิงจันที่สามารถวางแผนหนีทัพพม่ากลับมายังเมืองถลางได้อีกครั้งหนึ่ง ฉากที่ 7 เป็นฉากระดมพลที่วัดพระนางสร้าง ฉากที่ 8 เป็นฉากศึกใหญ่ ซึ่งเป็น Hi light ของการแสดง เนื่องจากจะเป็นการทำศึกรบระหว่างคุณหญิงจัน คุณมุก และแม่ทัพพม่า และสุดท้ายก็สามารถชนะทัพพม่าได้ในวันที่ 13 มีนาคม 2328 ก่อให้เกิดวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของสองวีรสตรี และฉากสุดท้าย รำลึกใต้ร่มพระบารมี สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ปูนบำเหน็จให้คุณหญิงจันและคุณมุกเป็นท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร นับแต่นั้นมา
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์