สนข.ทุ่มกว่า 11 ล้านบาท จ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำแผนแก้ปัญหาจราจรติดขัด และอุบัติเหตุในภูเก็ต รองรับการขยายตัวด้านการท่องเที่ยว และการพัฒนาเมืองภูเก็ตให้น่าอยู่
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (9 ก.พ.) ศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง (TDRC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้นำเสนอรายละเอียด “โครงการจัดทำแผนปฏิบัติการการเร่งรัดด้านจราจรและขนส่งเมืองภูเก็ต เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาเมืองน่าอยู่” โดยมี นายวรพจน์ รัฐสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน ซึ่งมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจจราจร แขวงการทาง หอการค้าฯ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว ฯลฯ ประชุมเสนอแนะการศึกษา ที่ห้องประชุมปฏิบัติการจังหวัดภูเก็ต
เศรษฐกิจของภูเก็ตมีการขยายตัวในอัตราสูง และคาดกันว่า ในปี 2554 นักท่องเที่ยวจะเข้าภูเก็ตสูงถึง 6 ล้านคน ดังนั้น พื่อเป็นการรองรับปัญหาการจราจรและการคมนาคมขนส่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สำนักงานนโยบายและแผนจราจรและขนส่ง (สนข.) กระทรวงคมนาคม จึงได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 11.4 ล้านบาท ว่าจ้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการจราจรและขนส่ง (TDRC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศึกษาปัญหาการจราจรติดขัดและอุบัติเหตุในจังหวัดภูเก็ต ตามโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการการเร่งรัดด้านจราจรและขนส่งเมืองภูเก็ต เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาเมืองน่าอยู่ เป็นเวลา 8 เดือน โดยเริ่มศึกษาในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้นไป
ทั้งนี้ เพื่อศึกษาสภาพการจราจรในปัจจุบันและจัดทำฐานข้อมูลด้านการจราจรของจังหวัดภูเก็ต ให้มีแผนปฏิบัติการด้านการจราจร 5 ปี ในลักษณะแผนบูรณาการ รวมทั้งเพื่อตรวจสอบและออกแบบเบื้องต้นในการแก้ไขจุดวิกฤตจราจร จัดทำแผนปรับปรุงภูมิทัศน์ สนับสนุนการเป็นเมืองน่าอยู่ และศึกษาปัญหาและจัดทำแผนพัฒนาระบบรถโดยสารสาธารณะของจังหวัดภูเก็ต
โดยจะทำการศึกษาปัญหาการจราจรของภูเก็ตทั้งเกาะ แต่จะเน้นพื้นที่เขตเทศบาลนครภูเก็ตเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพการจราจรค่อนข้างที่จะตัดขัดมากกว่าพื้นที่อื่นๆ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ และเส้นทางเชื่อมระหว่างสถานีโดยสาร ท่าอากาศยาน ท่าเรือ และเส้นทางคมนาคมหลักของภูเก็ต
สำหรับขอบข่ายการศึกษามี 7 ด้าน คือ 1.การจัดทำแผนงานการปรับปรุงระบบการจัดการจราจรและขนส่ง ที่มีแนวคิดเบื้องต้นในการแบ่งกลุ่มงานเป็น 5 กลุ่ม คือ แผนงานจัดระบบจราจรและขนส่ง แผนงานพัฒนาด้านความปลอดภัย แผนงานพัฒนาระบบโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง แผนงานพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ และแผนงานการปรับปรุงภูมิทัศน์และการเป็นเมืองน่าอยู่
2.การจัดทำฐานข้อมูลการจราจรและโครงข่ายระบบขนส่ง 3.การจัดทำแผนปฏิบัติด้านการจราจรและขนส่ง ระยะ 5 ปี ด้วยการบรรจุโครงการสำคัญๆ ในการแก้ปัญหาเร่งด่วน เช่น โครงการแก้ไขปัญหาจุดวิกฤตจราจรติดขัด วิกฤตซ้ำซาก พื้นที่วิกฤต เป็นต้น
4.การศึกษาและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณจุดวิกฤต โดยศึกษาจุดที่มีปัญหาจราจรวิกฤต 12 จุด และจุดวิกฤตที่มีปัญหาด้านความปลอดภัย 12 จุด 5.การแก้ไขปัญหาการจราจรและขนส่งบนพื้นที่วิกฤตในจังหวัดภูเก็ต 6.การจัดทำนวตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาด้านจราจร โดยการคัดเลือกพื้นที่ที่เป็นแหล่งกิจกรรม และจุดเปลี่ยนถ่ายระบบขนส่งสาธารณะจำนวน 2 จุด และ 7.การถ่ายทอดความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ สนข.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยการจัดสัมมนา 2 ครั้งและฝึกอบรม 1 ครั้ง
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์