ธนารักษ์ภูเก็ตเดินหน้านำที่ราชพัสดุหาผลประโยชน์ จัดทำแผนแม่บทการใช้พื้นที่แปลงที่ภก.155 เนื้อที่กว่า 126 ไร่ ให้เป็นศูนย์ราชการ นำที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งสำนักงานราชการใจกลางเมือง 4 แปลง เปิดให้เอกชนลงทุน หน่วยราชการไฟเขียวพร้อมคืนพื้นที่ ยกเว้นอำเภอเมืองภูเก็ต ที่ต้องขอความเห็นชอบในระดับกรมต่อกรม เผยให้เอกชนเข้ามาลงทุนเสร็จภายใน 3 ปี พร้อมเปิดประมูลแปลงย่อยๆ อีก 2 แปลงในปีนี้
นายธำรงค์ ทองตัน ธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต เปิดเผยความคืบหน้า การนำที่ราชพัสดุในภูเก็ตให้เอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนา ตามนโยบายของกรมธนารักษ์ ว่า ตามที่รัฐบาลและกระทรวงการคลัง มีนโยบายในการบริหารจัดการทรัพย์สินภาครัฐให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม สำหรับในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ตได้คัดเลือกที่ดินราชพัสดุที่มีความเหมาะสม ในการจัดทำผังแม่บทการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ
ทั้งนี้ เห็นว่าที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ภก.155 ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เนื้อที่ 126 -1-83 ไร่ ใช้ประโยชน์เป็นที่ตั้งสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่ เขต 2 (ตรงข้ามกับสวนหลวง ร.9) เป็นที่ดินแปลงใหญ่อยู่ใจกลางเมือง มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค การใช้ประโยชน์เกินความจำเป็น ซึ่งขณะนี้สำนักงานอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ ใช้ประโยชน์พื้นที่จริงเพียง 40 ไร่ ธนารักษ์ฯจึงได้จัดทำแผนแม่บท การใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น
ตามแผนแม่บทการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุแปลง ภก.155 ได้มีการแบ่งโซนการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุดังนี้ พื้นที่สำหรับเป็นพื้นที่ตั้งของหน่วยงานราชการ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานอุตสาหกรรมเหมืองแร่ฯ สำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ต สำนักงานพาณิชย์จังหวัดภูเก็ต สำนักงานอำเภอเมืองภูเก็ต และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาภูเก็ต
พื้นที่สำหรับเป็นที่พักอาศัยของหน่วยงานราชการพื้นที่พาณิชยกรรม10 ไร่ สำหรับรองรับการขยายตัวของชุมชนในอนาคต และพื้นที่สำหรับนันทนาการและสวนสาธารณะ เพื่อช่วยส่งเสริมเป็นปอดของโครงการ พัฒนาให้เป็นแหล่งพักผ่อน ออกกำลังกาย สวนป่า และการศึกษาธรรมชาติ ส่วนที่เหลือจะเป็นพื้นที่สำหรับถนน โดยพื้นที่ที่เป็นพื้นที่นันทนาการ พื้นที่สีเขียวและถนนมีพื้นที่ถึง 70% ของพื้นที่ทั้งหมด
นายธำรงค์ กล่าวอีกว่า แผนแม่บทการใช้ที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าว ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุจังหวัดภูเก็ตแล้ว ซึ่งจังหวัดภูเก็ตเห็นชอบในหลักการ ที่จะให้หน่วยงานราชการที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองภูเก็ตย้าย 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย อำเภอเมืองภูเก็ต สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาภูเก็ต สำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ตและสำนักงานพาณิชย์ ไปอยู่ในที่ราชพัสดุแปลงที่ 155 เพื่อนำที่ราชพัสดุทั้ง 4 แปลงมาเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาเหมือนกับที่ราชพัสดุหลายๆแปลงที่ได้เปิดประมูลให้เอกชนลงทุนมาแล้ว
เอกชนที่เข้ามาประมูล จะต้องลงทุนชดเชยการก่อสร้างสำนักงานให้แก่หน่วยงานราชการทั้ง 5 หน่วยในพื้นที่ราชพัสดุแปลงที่ ภก. 155 ตามแผนที่วางไว้จะมีการก่อสร้างเป็นอาคารสำนักงาน 1 หลัง ที่รวมหน่วยงานราชการไว้ทั้งหมด และคอนโดมิเนียมอีก 1 หลัง สำหรับเป็นที่พักอาศัยของข้าราชการที่มีบ้านพักอยู่ในสำนักงาน
ส่วนการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นถนน พื้นที่สีเขียว และพื้นที่นันทนาการจะเป็นการลงทุนโดยเทศบาลนครภูเก็ต เพราะพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครภูเก็ต และที่ผ่านมาเทศบาลนครภูเก็ตได้วางแผนในการตัดถนนในพื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว
“การชดเชยให้กับหน่วยงานราชการ เอกชนที่ประมูลจะต้องชดเชยให้จนหน่วยงานราชการพอใจและหน่วยงานราชการจะย้ายออกจากพื้นที่ที่เปิดประมูล ก็ต่อเมื่อมีการก่อสร้างสำนักงานใหม่เสร็จเท่านั้น และสำนักงานของแต่ละหน่วยงาน จะต้องดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น” นายธำรงค์ กล่าวและว่า
ตามแผนที่กำหนดไว้ จะนำที่ราชพัสดุทั้ง 4 แปลง มาเปิดประมูลให้เอกชนเข้ามาลงทุนพร้อมๆกันทั้ง 4 แปลง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 3 ปี ซึ่งขณะนี้หน่วยงานราชการทั้งหมดพร้อมที่จะคืนพื้นที่ให้ธนารักษ์นำมาเปิดประมูลแล้ว ยกเว้นอำเภอเมืองภูเก็ต ที่จะให้เกิดการตัดสินใจในระดับกรม ซึ่งเรื่องนี้รองอธิบดีกรมธนารักษ์ฯจะประสานกับกรมการปกครองต่อไป ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะการเปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลจะไม่แยกประมูลเป็นรายแปลง แต่จะเปิดประมูลพร้อมกัน เพื่อให้เอกชนมีกำลังในการชดเชยให้หน่วยงานราชการ
นายธำรงค์ ยังกล่าวถึงการเปิดประมูลที่ราชพัสดุในภูเก็ตอีก 2 แปลง ว่า ขณะนี้ธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ตได้นำที่ราชพัสดุออกประมูลอีก 2 แปลง คือ ที่ราชพัสดุแปลงที่บริเวณที่ซอยแทนทาลัม ต.รัษฏา อ.เมืองภูเก็ต เนื้อที่ 1 ไร่ครึ่ง ที่ขณะนี้มีเอกชนยื่นซองประมูลแล้ว 5 ราย มีทั้งการลงทุนเป็นสำนักงาน ที่พักอาศัยและอาคารพาณิชย์ และอีก 1 แปลงที่เป็นบ้านพักเดิมของโรงเรียนบ้านในทอน ต.สาคู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พื้นที่ 2 ไร่เศษ อยู่ในขั้นตอนการกำหนดค่าธรรมเนียมขั้นต้น
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์