พัฒนาสังคมฯ ภูเก็ต จับมือภาคประชาชนสร้างเครือข่าย จุดประกาย “สังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน”
วันนี้ (23 ม.ค.) นายสมิทธิ์ ปาลวัฒน์วิไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวในการเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน” โดยมี นางสาวพรรณี สิทธิการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายสุพจน์ สงวนกิตติพันธุ์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมจังหวัดภูเก็ต และผู้แทนภาคีเครือข่าย คือ เครือข่ายท้องถิ่นเครือข่ายองค์กรชุมชน และเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมของจังหวัดภูเก็ต ร่วมประชุมที่โรงแรมภูเก็ตเอสที อ.เมือง จ.ภูเก็ต
ว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายที่จะมุ่งสร้างสังคมเข้มแข็งที่คนในชาติ อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์บนพื้นฐานคุณธรรม และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ การพัฒนาสังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน ยุทธศาสตร์สังคมเข้มแข็ง และยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม ซึ่งทั้ง 3 ยุทธศาสตร์จะมีความเกี่ยวเนื่อง และเกี่ยวโยงกับภารกิจของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดภูเก็ต ยิ่งนัก ที่มุ่งสู่การส่งเสริมบทบาทของชุมชน องค์กร อาสาสมัคร ในการดูแลเด็ก เยาวชน คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส สิทธิ และความเท่าเทียมกันของสตรี โดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นกลุ่มคนในสังคม
นายสมิทธิ์ กล่าวอีกว่า การกำหนดนโยบายเรื่องสังคมไทยไม่ทอดทิ้งกัน มุ่ง
ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมพิจารณา ร่วมไตร่ตรอง ประชาชน และผู้เกี่ยวข้องจะมีส่วนสะท้อนต่อหน่วยงาน องค์กร บุคคลที่ควรให้การช่วยเหลือดูแลผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากลำบาก ผู้ถูกทอดทิ้งในชุมชนท้องถิ่น ตำบล อำเภอ จังหวัด ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ แต่เป็นไปตามความเข้าใจภาคีเครือข่ายต่อความหมายของผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากลำบาก ผู้ถูกทอดทิ้ง ถือว่าเป็นกระบวนการทำงานใหม่ที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจและการปฏิบัติจริงของอาสาสมัครในพื้นที่ รวมถึงจะต้องมีการทบทวนการปฏิบัติงานการช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้ยากลำบาก และผู้ถูกทอดทิ้งอยู่เสมอ
การดำเนินการตามยุทธศาสตร์สังคมไทยไม่ทอดทิ้งกันครั้งนี้ มุ่งหวังให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันระหว่างชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน องค์กรท้องถิ่น และองค์กรประชาชน ซึ่งยึดหลักคิด 3 ประการ คือ หลักการจัดการตนเองของประชาชน คือ การพึ่งตนเอง เพื่ออำนวยให้คน ให้ชุมชนสามารถสร้างความเข้มแข็งให้ตัวเอง และจัดการตนเองได้ หลักการระดมพลังสร้างสรรค์ ทำให้เกิดพลังในการพัฒนา พลังขยายผล โดยการกระตุ้นส่งเสริมทำซ้ำทำให้เกิดการรวมเป็นพลังสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพ และหลักการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำได้ในระดับบุคคลและระดับครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น
การเรียนรู้หมายถึง การปฏิบัติ การเรียนรู้ และการพัฒนา ร่วมกันเข้าทุกฝ่ายได้นำหลักทั้ง 3 ประการมาปฏิบัติเป็นพื้นฐานจะทำให้การดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สังคมไทยไม่ทอดทิ้งกันของจังหวัดภูเก็ตดำเนินการไปอย่างราบรื่น เพราะหลักทั้งสามประการนี้เป็นหัวใจของการดำเนินงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง เพื่อได้ร่วมสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ดีงามและอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์