ประมงพื้นบ้านราไวย์ร้องอวนรุนอวนลาก ทำทรัพยากรสัตว์น้ำลด ออกจับปลาไม่คุ้มทุน เรียกร้องรัฐช่วย
นายสังวาลย์ เหมวัน ประธานกลุ่มพัฒนาชายหาด และส่งเสริมอาชีพบ้านบางคณฑี ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต กล่าวถึงผลกระทบจากการที่กลุ่มนายทุนลักลอบทำเรือประมงอวนลาก อวนรุน รวมทั้งผลกระทบจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ และสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ว่า ทุกวันนี้กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่ตำบลราไวย์ หมู่ 4 และหมู่ 5 กว่า 100 ชีวิต ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ เพราะหลังจากคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ก็ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลได้รับความเสียหายด้วย โดยเฉพาะแนวปะการัง เมื่อแนวปะการังได้รับความเสียหาย ก็ทำให้สัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา ไม่มีที่อยู่ ต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น ประกอบกับร่องน้ำเปลี่ยน ความอุดมสมบูรณ์ลดถอยลง
ทุกวันนี้ออกเรือแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายตายตัวประมาณ 2 พันบาท แต่สัตว์น้ำที่หาได้บางครั้งนำมาขายได้ไม่ถึง 2 พันบาท ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก ส่วนใหญ่จะออกไปหาปลาบริเวณเกาะราชาใหญ่ ราชาน้อย เดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง ใช้น้ำมันประมาณ 10 ลิตร แต่มีรายได้จากการจับปลากลับเข้ามาเพียง 400-500 บาทเท่านั้น
นอกจากนั้น ยังมีเรืออวนลากอวนรุนของกลุ่มนายทุน ทั้งใน และนอกพื้นที่เข้ามาลักลอบทำการประมงช่วงกลางคืน ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ทรัพยากรแนวปะการัง และสัตว์ทะเลน้อยลงไปอีก เพราะอุปกรณ์ที่ใช้เก็บกวาดทุกอย่างใต้ท้องทะเล ปลาเล็ก ปลาน้อย ติดไปหมด เชื่อว่า อีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า หากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ กลุ่มเรือประมงพื้นบ้านจะต้องหมดไปอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจน้ำมันแพงก็ส่งผลกระทบด้วย เมื่อไม่มีรายได้ก็ไม่มีเงินซื้อน้ำมัน รวมปัจจัย 3 อย่าง ทั้งภาวะเศรษฐกิจน้ำมันแพง ทรัพยากรธรรมชาติลดลง และปัญหาเรืออวนลาก อวนรุน ทำให้ปัจจุบันชาวประมงหันเหไปประกอบอาชีพอื่น ส่วนใหญ่หนีไม่พ้นอาชีพก่อสร้าง และทำสวนตามโรงแรมต่างๆ
เพราะฉะนั้น อยากให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจับกุมกลุ่มที่ลักลอบเข้ามาทำการประมงในพื้นที่และการหาอาชีพ รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมและสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านแบบยั่งยืน เพื่อที่ชาวบ้านจะได้มีอาชีพที่ยั่งยืน เพราะถ้าปล่อยไว้เชื่อว่าอาชีพประมงพื้นที่จะต้องหมดไปแน่นอน
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์