ท่องเที่ยวภาคใต้ยังรักษาตำแหน่งยอดนิยม โดยเฉพาะภูเก็ต สมุย แม้จะเจอมรสุมสึนามิและความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2550 ททท.เตรียมเข็นสินค้าท่องเที่ยวและกิจกรรมลงพื้นที่ รองรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ขณะที่เอกชนยังเรียกร้องถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน และเที่ยวบินเข้าพื้นที่
วันนี้ (8 ม.ค.) ดร.สุวิทย์ ยอดมณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดการประชุมและมอบนโยบาย การจัดทำแผนการตลาดการท่องเที่ยวภาคใต้ ประจำปี 2550 ที่ โรงแรมเมโทรโพล ภูเก็ต โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา หน่วยงานภาครัฐเอกชนที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว บริษัทนำเที่ยว ผู้ประกอบการโรงแรมที่พัก จากพื้นที่ภาคใต้ 14 จังหวัด เข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแผนการตลาดการท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศในปี 2550 โดยมีเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวคนไทย 82 ล้านคนครั้ง รายได้ 377,800 ล้านบาท นักท่องเที่ยวต่างประเทศ 14.8 ล้านคน รายได้ 547,500 ล้านคน มุ่งเน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพ และส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน น้อมรับแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ททท.จะสร้างกระแสการเดินทางท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต พร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกในการท่องเที่ยวอย่างรู้คุณค่าและรักษาแหล่งท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวในมิติการเรียนรู้และสร้างสรรค์สังคม และส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มจังหวัดทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้
ในแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาคใต้ ได้กำหนดเป้าหมายตลาดภายในประเทศ เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป เยาวชนและครอบครัว วัยทำงานและผู้ที่มีรายได้สูง ผู้สูงอายุ บริษัทห้างร้าน ซึ่งมีหาดทราย ชายทะเล แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม กลุ่มผจญภัย กอล์ฟ ดำน้ำ เป็นสินค้าหลักทางการท่องเที่ยว
ส่วนกลุ่มเป้าหมายตลาดต่างประเทศ ได้แก่ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางทั่วไป นักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง ครอบครัว นักกอล์ฟ นักดำน้ำ กลุ่มฮันนีมูน เป็นต้น ที่นิยมหาดทราย ชายทะเล กิจกรรมดำน้ำ กอล์ฟ การบริการสุขภาพ อาหารทะเล เป็นสินค้าหลักทางการท่องเที่ยว พร้อมจัดกิจกรรมระดับนานาชาติตลอดปี ที่เกี่ยวกับศาสนา วัฒนธรรมประเพณี กีฬา บันเทิง และนันทนาการ เช่น มินิฮาล์ฟมาราธอน วิวาห์ใต้สมุทร ตรุษจีน สงกรานต์ ฮาลาลฟูด เทศกาลกินผัก งานแข่งขันไตรกีฬาลากูน่า เป็นต้น
สึนามิ-ชายแดนกระทบท่องเที่ยวใต้
สถานการณ์การท่องเที่ยวของภาคใต้ในปัจจุบัน ประสบปัญหาวิกฤตทั้งจากภัยสึนิและความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลงจากปีละ 8.9 ล้านคน เหลือแค่ 4.06 ล้านคนเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามพื้นที่ภาคใต้ได้เริ่มฟื้นตัวจากภัยสึนามิแล้ว ทำให้ภาคใต้เป็นพื้นที่ที่สร้างรายได้เป็นอันดับ 2 ของประเทศ รองจากกรุงเทพฯ และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังคงเป็นรายได้หลักถึง 2 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด โดยมีกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักอยู่ที่ยุโรป รองลงมาคือ เอเชียและอเมริกา ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวหลักยังคงเป็นภูเก็ต หาดใหญ่ สมุย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบครึ่งหนึ่งจะกระจุกตัวอยู่ที่ภูเก็ต
จากปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเดินทางเข้าพื้นที่ลดลง ยกเว้นสตูลและหาดใหญ่ ที่ยังคงมีแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะหาดใหญ่ โครงสร้างตลาดได้เปลี่ยนไป จากการพึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติ มาเป็นการพึงพิงนักท่องเที่ยวคนไทยมากขึ้น
ดังนั้น กลยุทธ์การท่องเที่ยวของภาคใต้จะต้องรักษาฐานตลาดคนไทย กระจายการเดินทางสู่กลุ่มพื้นที่ภายในภูมิภาค โดยเน้นแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนา วัฒนธรรม และกิจกรรมเป็นจุดขายหลัก รวมทั้งนำเสนอพื้นที่ที่เป็นจุดขายในระดับนานาชาติ
เอกชนเรียกร้องสายการบินเข้าพื้นที่
อย่างไรก็ตาม เอกชนได้เสนอแนะความคิดเห็นในหลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และระเบิดที่กรุงเทพฯเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของหาดใหญ่ การท่องเที่ยวของสตูลและระนองที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าท่องเที่ยวน้อย
รวมทั้งจังหวัดกระบี่ได้เรียกร้องให้มีการก่อสร้างท่าเทียบเรือที่เกาะพีพี ทดแทนสะพานท่าเทียบเรือเดิมที่อยู่ในสภาพชำรุดมากๆ แต่ไม่สามารถสร้างได้แม้จะมีงบประมาณแล้ว เพราะติดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และเรียกร้องให้มีการจัดกิจกรรมในระดับนานาชาติในเส้นทางเซาาท์เทิร์นซีบอร์ด ที่มีความสวยงาม เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวของสุราษฎร์ธานี-กระบี่-พังงา
นอกจากนี้เอกชนผู้ประกอบการในภูเก็ต เรียกร้องให้มีเที่ยวบินตรงจากญี่ปุ่นมาภูเก็ต ภายหลังการบินไทยได้ยกเลิกหลังเกิดสึนามิ ทำให้กลุ่มตลาดญี่ปุ่นยังไม่ฟื้น เพราะการเดินทางไปสะดวก รวมทั้งการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าที่ภูเก็ต
ปรับปรุงความพร้อม-เชื่อมโยงการบิน
ดร.สุวิทย์ ยอดมณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา แถลงต่อสื่อมวลภายหลังการับฟังความคิดเห็น ว่า จากการรับฟังข้อเสนอแนะของเอกชนผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เข้าร่วมประชุมถึง 280 คนในวันนี้นั้น ยังมีปัญหาทางด้านการท่องเที่ยวอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเชื่อมโยงการบินที่มีการเรียกร้องให้เชื่อมโยงการบิน ในเส้นทางกรุงเทพฯ-หาดใหญ่-ภูเก็ต โดยสายการบินใดก็ได้ รวมทั้งการเชื่อมโยงการคมนาคม ระหว่างจังหวัดระนองกับเมืองท่องเที่ยวหลักๆ เพื่อส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเตรียมความของพื้นที่ในการรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ที่เกาะสมุย ที่เอกชนต้องการนักท่องเที่ยวเพิ่ม
ส่วนกรณีที่เอกชนในภูเก็ตเรียกร้องให้มีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินั้น โดยส่วนตัวแล้วตนเห็นด้วยที่จะพัฒนาคุณภาพของนักท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องนี้คงจะต้องหารือกับผู้ว่าฯภูเก็ตอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะเสนอในระดับคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์