คณะทูตจาก 46 ประเทศ - ญาติผู้เสียชีวิต จากเหตุการณ์สึนามิถล่ม ร่วมเปิดสุสานนิรนามสึนามิ ที่บางมะรวน พร้อมวางพวงมาลาไว้อาลัยเหยื่อสึนามิ ที่ยังตรวจพิสูจน์ไม่ได้อีก 414 ศพ ขณะที่ผู้บัญชาการศูนย์พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล และการส่งกลับ ยืนยันการจ่ายเงินกองทุนตรวจศพสึนามิ พร้อมให้ตรวจสอบ เผย ที่ผ่านมาการเบิกจ่ายอยู่ในมือบอร์ดบริหารนานาชาติ
วันนี้ (26 ธ.ค.) พล.ต.อ.อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานพิธีเปิดสุสานนิรนามผู้ประสบภัยสึนามิ ที่บริเวณสุสานบางมะรวน ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา โดยมีคณะทูต และตัวแทนจากประเทศต่างๆ จำนวน 46 ประเทศ 2 องค์กร รวมทั้งข้าราชการในพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามัน และญาติผู้เสียชีวิตและศูนย์หายจากเหตุการณ์สึนามิถล่มเข้าร่วมพิธีจำนวนมาก
การจัดพิธีในครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศได้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ มีการเชิญธงชาติของประเทศต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลือขึ้นสู่ยอดเสา การยืนสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัย และการเปิดป้ายสุสานอย่างเป็นทางการ และมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนามทั้ง 5 ศาสนา
สำหรับสุสานนิรนามผู้ประสบภัยสึนามิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดสร้างขึ้น ภายในสุสานประกอบด้วย บริเวณที่ฝังศพเหยื่อสึนามิที่ยังตรวจพิสูจน์ไม่ได้ ลานที่รำลึก ประติมากรรม อาคารตรวจศพ อาคารที่ทำการ อาคารอเนกประสงค์และระบบสาธารณูปโภค รวมพื้นที่ 15 ไร่ ใช้งบประมาณในการดำเนินการ 36.5 ล้านบาท ซึ่งแบ่งพื้นที่การฝังศพออกเป็น 4 ส่วน คือ ศพเพศชายที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ศพเพศชายมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ศพเพศหญิง อายุต่ำกว่า 20 ปี และศพเพศหญิงที่มีอายุมากกว่า 20 ปี โดยมีศพที่ฝังในสุสานดังกล่าวจำนวน 414 ศพ
สำหรับการสุสานดังกล่าวมีแนวคิดในการก่อสร้าง คือ มองจากด้านหน้าเข้าภายในสุสานจะเห็นเป็นแนวต้นไม้ที่สวยงาม ซึ่งหมายถึงสภาพธรรมชาติ ที่สดใสงดงามก่อนเกินสึนามิ ต่อมาบริเวณช่วงตรงกลาง จะเป็นประติมากรรมรูปคลื่นทะเล หมายถึงเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้น ต่อจากนั้น ก็เป็นประติมากรรมแท่งหิน หมายถึงซากปรักหักพังต่างๆ ที่เป็นความเสียหาย ที่เกิดความรุนแรงของคลื่นยักษ์สึนามิ จุดสุดท้ายเป็นอาคารที่ทำการต่างๆ ซึ่งหมายถึงการเข้ามาทำงานของเจ้าหน้าที่ของนานาชาติรวมทั้งไทย ที่เข้ามาร่วมกันตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและการส่งกลับ
พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุวรรณเภสัช รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและการส่งกลับ กล่าวภายหลังเสร็จพิธีเปิดสุสานนิรนามผู้ประสบภัยสึนามิ ว่า สำหรับการตรวจพิสูจน์ศพของผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการอย่างเต็มที ซึ่งเดิมนั้นมีศพนิรนามจำนวน 3,000 กว่าศพ แต่ขณะนี้สามารถตรวจพิสูจน์ได้เกือบหมดเหลือเพียง 414 ศพ ที่ยังตรวจพิสูจน์ไม่ได้ แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็ได้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของศพไว้หมดแล้ว และสามารถตรวจพิสูจน์ได้ทันที ถ้ามีตัวอย่างดีเอ็นเอจากญาติมา
ส่วนสุสานนิรนามผู้ประสบภัยสึนามิ หลังจากการเปิดอย่างเป็นทางการแล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะส่งมอบให้กับจังหวัดไปบริหารจัดการและดูแลต่อไป ส่วนจังหวัดจะมอบต่อ ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลหรือไม่ ก็เป็นเรื่องระหว่างจังหวัดกับท้องถิ่น
สำหรับศพของผู้เสียชีวิตที่ยังตรวจพิสูจน์ไม่ได้จำนวน 414 ศพ เชื่อว่า เป็นศพของต่างชาติไม่เกิน 10-15% ส่วนที่เหลือคาดว่าน่าจะเป็นศพของแรงงานต่างด้าว และศพของคนไทยที่มาทำงานแล้วญาติไม่ทราบ สำหรับศพของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สึนามิ ส่วนใหญ่ตรวจสอบได้เกือบ 100% และมีบางประเทศที่ได้ศพผู้เสียชีวิตกลับไปหมดแล้ว
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.อชิรวิทย์ ยังได้กล่าวต่อไปถึงกรณีที่ทูตจาก 7 ประเทศ ทำหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ตรวจสอบการใช้เงินของศูนย์พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและการส่งกลับ ว่า เรื่องนี้พร้อมที่จะให้ตรวจสอบ เพราะเงินของกองทุนที่ส่งเข้ามา จะอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่นานาชาติ การเบิกจ่ายจะต้องผ่านบอร์ดทุกครั้ง ซึ่งจริงๆแล้วก่อนจะมีการส่งมอบงานให้ตำรวจไทยในการเข้าไปดำเนินการศูนย์ฯ เจ้าหน้าที่ได้ขอให้มีการตรวจสอบแล้วเพื่อปิดบัญชีให้ชัดเจน
ส่วนการดำเนินงานหลังจากส่งมอบเมื่อเดือน มิ.ย.2549 ไทยรับมอบเงินมาจำนวน 29 กว่าล้านบาท และขณะนี้จ่ายเงินไปล้วจำนวน 5 ล้านกว่าบาท ยังเหลือเงินอีก 24 ล้านบาท ซึ่งหลังจากที่มีการส่งมอบศูนย์ให้กับจังหวัดพังงา ก็จะมีการหารือร่วมกันกับทุกประเทศ ว่าเงินที่เหลือจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป ส่วนเรื่องของการตรวจสอบ พร้อมให้มีการตรวจสอบตลอดเวลา
ขณะที่ พล.ต.อ.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ อดีตผู้บัญชาการศูนย์พิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล กล่าวว่า อยากขอความเป็นธรรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะในการเข้ามาทำงานระยะแรก ทุกคนทั้งใจทำงานกันอย่างเต็มที่ แต่เรื่องของการบริหารจัดการเงินของประเทศต่างๆ เป็นเรื่องของต่างประเทศ ที่เป็นฝ่ายจัดการ ทางตำรวจไทยไม่ได้มีหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องเรื่องของการเงินแต่อย่างได
นอกจากนี้ เงินต่างประเทศที่เข้ามานั้นไม่ใช่เงินบริจาค การใช้จ่ายจะต้องเบิกผ่านเจ้าหน้าที่ต่างประเทศ สำหรับค่าใช้จ่ายของตำรวจไทย จะได้เฉพาะในส่วนของเบี้ยเลี้ยงเท่านั้น ซึ่งเบี้ยเลี้ยงที่ได้รับก็เป็นเงินจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จ่ายมา ไม่ใช่เงินกองทุนตรวจศพสึนามิแต่อย่างใด
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์