ภูเก็ต, เด็กสึนามิยังมีปัญหาทางจิต ?กลัว วิตกกังวลคิดถึงพ่อแม่? ( ข่าวภูเก็ต )
เผยเด็กสึนามิยังมีปัญหาทางจิตอยู่ทั้งกลัว กังวล หวั่นวิตกคิดถึงพ่อแม่ที่สูญเสีย เชื่ออีก 2-3 ปีเด็กเหล่านี้จะสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กัลยา นาคเพ็ชร์ ประธานคณะทำงานโครงการบริการให้ความช่วยเหลือทางจิตใจในกลุ่มเด็กและผู้ดูแลที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ ตามโครงการบริการให้ความช่วยเหลือทางจิตใจในกลุ่มเด็ก และผู้ดูแลที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ กล่าวภายหลังเปิดการสัมมนาครูฝึกอบรม และอาสาสมัครให้ความช่วยเหลือทางจิตใจในกลุ่มเด็กและผู้ดูแล ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมถาวรแกรนด์พลาซ่า อ.เมือง จ.ภูเก็ต ถึงความคืบหน้าการฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิถล่ม
โครงการนี้เป็นโครงการหนึ่งในหลายโครงการของสภากาชาดไทย ที่คณะอาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นผู้ดำเนินการภายใต้การสนับสนุนของสหพันธ์กาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดง ระหว่างประเทศ (IFRC) ด้วยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากนายกเหล่ากาชาดจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้ง 6 จังหวัด การดำเนินโครงการได้เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 เป็นต้นมา กิจกรรมของโครงการประกอบด้วยการฝึกอบรมครูผู้ฝึกอบรม 2 รุ่น จำนวน 68 คน เมื่อเดือนตุลาคม 2548 และเดือนมีนาคม 2549 การฝึกอบรมอาสาสมัคร 61 คน (จังหวัดละ 10-11 คน) เมื่อเดือนมิถุนายน 2549
หลังจากนั้น อาสาสมัครได้ปฏิบัติการเยี่ยมเด็กและครอบครัวที่อยู่ในพื้นที่ของตนเพื่อสำรวจ และให้การประคับประคองด้านจิตใจตามวิธีการที่ได้รับการอบรมมา รวมทั้งจัดกิจกรรมขึ้นในชุมชนเพื่อให้เด็กและผู้ดูแลได้ฝึกทักษะการผ่อนคลายความเครียด และพบปะสังสรรค์กัน โดยภาพรวมของการดำเนินโครงการสามารถสำเร็จลุล่วงตามขั้นตอน และแผนงานที่วางไว้ ขณะนี้อยู่ในขั้นสุดท้ายของแผนงานประจำปี 2549 คือ การจัดสัมมนาร่วมกันเพื่อการสรุปงาน ประเมินผลการดำเนินงาน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน รวมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อนำไปพัฒนางานในปีต่อไปให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์กัลยา กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่เยี่ยมเด็ก และครอบครัวในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ 6 จังหวัดอันดามัน พบว่า สภาพจิตใจของเด็ก ยังมีในเรื่องความกลัว วิตกกังวล และคิดถึงพ่อแม่ที่จากไป ซึ่งในส่วนของอาสาสมัครก็ได้จัดให้มีกิจกรรมนันทนาการ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเครียดให้กับเด็กขึ้นและในวันนี้ก็เป็นการมาพบปะกันระหว่างครูกับอาสาสมัคร เพื่อสรุปว่างานที่ทำไปเป็นยังไงบ้าง ซึ่งก็จะมีการเสริมความรู้เพิ่ม เรื่องการดูแลสุขภาพร่างกาย ให้กับสาธารณสุขจังหวัด อาสาสมัครชุมชน องค์กรชุมชนหรือว่าหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ทั้งหลายเข้ามาเป็นภาคีร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืนในงานที่ปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นการฟื้นฟูทางด้านจิตใจในเด็กเป็นเรื่องทำได้ค่อนข้างยาก แต่ 2-3 ปีข้างหน้าตัวเด็กผู้ประสบภัยจะสามารถดำเนินชีวิตด้วยตัวเองได้อย่างปกติสุข ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำในวันนี้ คือ การสร้างความยั่งยืน ให้อาสาสมัคร ที่อยู่ในพื้นที่ช่วยเหลือทางจิตใจเด็กต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการนี้ อาจจะสิ้นสุดลง
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์