ภูเก็ต, นอร์เวย์บริจาคเครื่องสำรวจทรัพยากรทางทะเลให้ภูเก็ต ( ข่าวภูเก็ต )
เรือที่ติดเครื่องมือสำรวจท้องทะเล
รัฐบาล?นอร์เวย์? บริจาคเครื่องมือ ?Hydro Acoustic? สำรวจทรัพยากรสัตว์น้ำฝั่งอันดามันหลังสึนามิถล่ม ชุดแรกของประเทศไทย ใช้งบดำเนินการ 12 ล้านบาท
วันนี้ (24 พ.ค.) ที่บริเวณอ่าวพังงา จ.พังงา ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลฝั่งอันดามัน สาธิตเครื่องมือ Hydro Acoustic เครื่องมือในการสำรวจทรัพยากรทางทะเล ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ได้รับบริจาคมาจากรัฐบาลนอร์เวย์ ตามโครงการประเมินทรัพยากรสัตว์น้ำหลังเหตุการณ์ธรณีพิบัติ (Post-Tsunami Assessment of Living Marine Resources) ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง สถาบันวิจัยทางทะเล ประเทศนอร์เวย์ กับกรมประมงของประเทศไทย
โดยมีนายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนางเพราลัย นุชหมอน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงฝั่งทะเลอันดามัน ร่วมชมการสาธิต
นางเพราลัย นุชหมอน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลฝั่งอันดามัน กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบันวิจัยทางทะเล ประเทศนอร์เวย์กับกรมประมงของประเทศไทย ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลฝั่งอันดามันเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งรัฐบาลของประเทศนอร์เวย์ได้มอบเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจท้องทะเลมาติดตั้งในเรือสำรวจประมง 4 พร้อมกับจัดให้มีการฝึกอบรมการใช้เครื่องมือดังกล่าว ให้แก่นักวิชาการประมงของไทย โดยใช้งบประมาณในการดำเนินการทั้งหมดประมาณ 12,000,000 บาท
เครื่องมือที่ได้รับบริจาค ประกอบด้วย เครื่องบอกพิกัดทางภูมิศาสตร์ (DGPS) ซึ่งสามารถบอกพิกัดตำแหน่งได้อย่างแม่นยำ เครื่องทำแผนที่แบบสามมิติ (Bottom mapping in3D) ที่สามารถแสดงลักษณะทางกายภาพพื้นท้องทะเล ในบริเวณที่ทำการสำรวจ เช่น ความแข็งของพื้น ลักษณะการลาดชัน สภาพโดยรวมของพื้นท้องทะเล ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการสำรวจแหล่งจัดสร้างปะการังเทียม ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการจัดสร้างได้เสร็จสิ้นไปแล้ว
นอกจากนั้น ยังมีเครื่องหยั่งน้ำแบบแยกความถี่ (Scientific echo sounder) สามารถบอกให้ทราบถึงปริมาณความชุกชุมของสัตว์น้ำ ในบริเวณที่ทำการสำรวจ และเครื่องมือติดตามและตรวจสอบการทำงานของเครื่องมือประมงอวนลาก (Simrad PI44 Catch monitoring system) สามารถบอกการทำงานของเครื่องมือประมง ที่ได้ทำการติดตั้งว่า ทำงานถูกต้อง และมีประสิทธิภาพหรือไม่ ทำให้สามารถควบคุมเครื่องมือได้ตามที่ต้องการ
ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลฝั่งอันดามัน กล่าวต่อไปว่า ศูนย์ฯ ได้นำเรือออกปฏิบัติงาน ในพื้นที่ทางทะเลตลอดฝั่งอันดามันมาแล้ว 3 ครั้งพบว่า เครื่องมือดังกล่าวสามารถทำงานได้เป็นอย่างดี ข้อมูลที่ได้รับจะถูกนำมาประมวล เพื่อทราบการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรสัตว์น้ำ และพื้นท้องทะเล ตลอดจนติดตามผลการจัดสร้างแหล่งอาหารสัตว์ทะเลทางฝั่งอันดามันของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญเครื่องสำรวจท้องทะเลชุดนี้ เป็นเครื่องแรกของประเทศไทย ที่สามารถทำการสำรวจทรัพยากรท้องทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์