ภูเก็ต, ภูเก็ตเปิดโรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ลดขยะเข้าเตาเผา-รับมือก่อนขยะล้นเมือง ( ข่าวภูเก็ต )
ศูนย์ข่าวภูเก็ต -องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภูเก็ต จับมือมูลนิธิเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เปิด ?โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์เทพกระษัตรี? เป็นโครงการนำร่องในภูเก็ตก่อนขยายยังไป เชิงทะเลในปีหน้าและอบต.อื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 3-4 แห่ง หวังช่วยลดปริมาณขยะเปียกที่เข้าเตาเผา และลดปริมาณขยะในภูเก็ต ด้านอบต.หลายแห่งในภูเก็ตตื่นตัว ในการจัดการขยะด้วยการคัดแยกขยะอินทรีย์ ทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์
วันนี้ (1 ธ.ค.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับ กรมพัฒนาที่ดิน เทศบาลตำบลเทพกระษัตรี มูลนิธิเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เปิด ?โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์เทพกระษัตรี? ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านบ่อกรวด ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต และลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อความร่วมมือ ในการบริหารจัดการโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์เทพกระษัตรี และกรมพัฒนาที่ดินมอบสารเร่งปุ๋ยอินทรีย์ ให้แก่เทศบาลเทพกระษัตรีและเทศบาลเชิงทะเล โดยมีนายวรพจน์ รัฐสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน ที่บริเวณโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์เทพกระษัตรี จ.ภูเก็ต
โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์เทพกระษัตรี เกิดขึ้นเนื่องจาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตเล็งเห็นความสำคัญในการลดปริมาณขยะในภูเก็ต ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆและเกรงว่าหากปล่อยให้ขยะมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นปีละ 7% จะทำให้ภูเก็ตประสบปัญหาวิกฤตขยะได้ในอนาคต จึงได้มอบหมายให้มูลนิธิเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ดำเนินโครงการปรับปรุงระบบการจัดการขยะมูลฝอยจังหวัดภูเก็ต โดยมีเทศบาลตำบลเทพกระษัตรี และเทศบาลตำบลเชิงทะเล อ.ถลาง เป็นพื้นที่นำร่อง ในการบริหารจัดการขยะที่ประชาชนมีส่วนร่วม และโครงการสาธิตการแปรรูปขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ยอินทรีย์ และมีการก่อสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เทพกระษัตรี ที่อบจ.ภูเก็ตได้สนับสนุนงบประมาณก่อสร้าง 2.5 ล้านบาท
โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์แห่งนี้ จะผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่เป็นปุ๋ยหมักได้วันละ 2 ตัน และน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ วันละ 200 ลิตร โดยทางเทศบาลเทพกระกษัตรีทำหน้าที่ในการจัดกเก็บขยะอินทรีย์ที่เป็นเศษอาหารจากบ้านเรือนประชาชน ในเขตพื้นที่เทศบาลเทพกษัตรีและบ้านบ่อกรวด รวมทั้งเศษผัก ผลไม้ จากตลาดสดบ้านเคียน วันละ 500-600 กก. มาเข้าสู่โรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ สามารถที่จะลดปริมาณขยะอินทรีย์ในส่วนของเทศบาลตำบลเทพกระษัตรี ที่จะเข้าสู่เตาเผาขยะของเทศบาลนครภูเก็ตได้ถึง 10%
ทั้งนี้ เพราะในแต่ละวันในเขตตำบลเทพกระษัตรี จะมีปริมาณขยะทั้งสิ้นวันละ 5,000 กก. และสิ่งสำคัญการเกิดขึ้นของโรงงานเตาเผาขยะแห่งนี้เกิดขึ้นได้ เพราะความร่วมมือของประชาชนในชุมชน ในการคัดแยกขยะระหว่างขยะเปียกและขยะแห้ง
นายพีริยุตม์ วรรณพฤกษ์ ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน กล่าวว่า จากการศึกษาปริมาณขยะของมูลินิธิเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมฯ ในพื้นที่ภูเก็ต พบว่า ขยะในภูเก็ตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นปีละ 7% ส่งผลให้ระบบการจัดการขยะมูลฝอยรวมแบบเตาเผาขยะที่สามารถกำจัดขยะได้วันละ 250 ตัน ไม่สามารถที่จะกำจัดขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นวันละ 450 ตันได้
ทั้งนี้ หากปล่อยให้ปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อาจจะทำให้ภูเก็ตประสบปัญหาวิกฤตขยะล้นเมืองได้ในอนาคต อบจ.ภูเก็ตได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ริ่เริ่มโครงการปรับปรุงระบบการจัดการขยะมูลฝอยจังหวัดภูเก็ต ที่อาศัยหลักการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยจากต้นทาง โดยได้มอบหมายให้มูลนิธิฯ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 2 แห่ง คือ เทศบาลตำบลเทพกระษัตรี และเทศบาลตำบลเชิงทะเล
ภายใต้โครงการปรับปรุงระบบการจัดการขยะมูลฝอยจังหวัดภูเก็ต ได้จัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการขยะมูลฝอย และโครงการสาธิตการแปรรูปขยะอินทรีย์เป็นปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งถือเป็นโครงการที่สำคัญ ที่จะแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการคัดแยกขยะอินทรีย์จากต้นทางนำมาแปรรูปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่เหมาะสม สำหรับภาคการเกษตร และยังจะเป็นการลดปริมาณขยะอินทรีย์ ถูกคัดแยกออกจากขยะมูลฝอยอื่นๆ ที่ต้องกำจัดโดยการเปา และโครงการดังกล่าว นำมาสู่การก่อสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์เทพกระษัตรีที่เห็นเป็นรูปธรรม
ขบวนการพัฒนาโรงงานผลิตปุ่ยอินทรีย์เทพกระษัตรี แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ การก่อสร้างอาคารโรงงาน ที่ได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนพ.ค.ถึงก.ย. 2549 การเตรียมบุคลากร โดยได้รับการสนับสนุนวิทยากรจากสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดภูเก็ตในการทำน้ำหมักจุลินทรีย์และปุ๋ยหมักอินทรีย์ และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 2549 เป็นต้นมา
นายพีริยุตม์ กล่าวอีกว่า ภายหลังดำเนินการที่ตำบลเทพกษัตรีแล้ว ในปี 2550 จะมีการก่อสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่เทศบาลตำบลเชิงทะเลต่ออีก 1 แห่ง โดยอบจ.ภูเก็ตเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณก่อสร้างโรงงาน 2.5 ล้านบาท ซึ่งการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและเปิดผลิตปุ๋ยได้ประมาณเดือนเมษายน 2550ซึ่งที่เชิงทะเลนี้ โรงแรมในเครือลากูน่าจะเข้าร่วมโครงการโดยการคัดแยกขยะอินทรีย์ป้อนสู่โรงงานด้วย
ด้านนางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า อบจ.ภูเก็ตได้เข้ามาดำเนินโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอย ด้วยการคัดแยกขยะมาตั้งแต่ปี 2548 เพราะเห็นว่าแนวโน้มขยะในภูเก็ตเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2548 ได้จัดสรรงบประมาณ 7 ล้านบาท ในการปลูกฝั่งเด็กตามโรงเรียนต่างๆ ในการคัดแยกขยะ รวมทั้งก่อสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยที่ตำบลเทพกระษัตรี ปี 2549 ได้จัดสรรงบประมาณอีก 5 ล้านบาท ในการก่อสร้างโรงงานผลิตอินทรีย์เชิงทะเล และโครงการถนนสวยปลอดถึงขยะที่ถนนขวาง เขตอบต.วิชิต รวมทั้ง ปลูกฝั่งรณรงค์การคัดแยกขยะ ให้กับเด็กตามโรงเรียนต่างๆ
รวมทั้งในปี 2550 นี้ได้จัดสรรงบประมาณอีก 6 ล้านบาท ในการรณรงค์คัดแยกขยะในเขตอบต.กมลาและศรีสุนทร ซึ่งทั้งสองแห่งนี้ต้องการ ที่จะสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ แต่การจะก่อสร้างหรือไม่นั้นจะต้องรอดูปริมาณขยะของเทพกระษัตรีและเชิงทะเล ว่าปริมาณขยะมีเพียงพอหรือไม่ หากไม่เพียงพอก็จะนำขยะอินทรีย์จากกมลา และศรีสุนทร มาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ในโรงงานที่สร้างแล้วทั้ง 2 แห่ง
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์