ภูเก็ต เลือก 3 ตำบลนำร่อง โครงการสำหรับรับมือภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ
นายอรุณ เกิดสม ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับคณะกรรมการฯผู้เชี่ยวชาญจาก JAICA ประเทศญี่ปุ่น ผู้แทนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อกำหนดพื้นที่นำร่องโครงการสำหรับรับมือภัยสึนามิว่า ประเทศไทยต้องเผชิญกับความเสียหาย จากการเกิดภัยพิบัติในแต่ละครั้ง และมีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี
การเกิดภัยพิบัติได้สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก รวมทั้งผลกระทบต่อด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ ประกอบกับขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการ ในการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพด้านการจัดการภัยพิบัติ
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยให้เป็นองค์กรหลักของรัฐที่มีบทบาท และความรับผิดชอบด้านการจัดการภัยพิบัติเพิ่มศักยภาพ และเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการภัยพิบัติ ให้แก่ระดับชาติและระดับท้องถิ่น พร้อมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้แก่หน่วยงานในระดับ ภูมิภาคของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกระทรวงศึกษาธิการโดยได้พิจารณาคัดเลือกจังหวัดภูเก็ต เป็นพื้นที่นำร่องของโครงการ สำหรับภัยอันเกิดจากคลื่นยักษ์สึนามิ
สำหรับเกณฑ์ในการเลือกพื้นที่นำร่องการป้องกันสาธารณภัย โดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน หนึ่งในกิจกรรมการสร้างเสริมคุณภาพ คือ การพัฒนาศักยภาพการวางแผนป้องกันภัยในระดับหมู่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นทั้งผู้ช่วย และที่ปรึกษาในการจัดกิจกรรมการป้องกันสาธารณภัย โดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน เพื่อจุดประสงค์นี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เสนอชื่อหมู่บ้านเพื่อเป็นพื้นที่นำร่องของแต่ละภัยพิบัติ
ปัจจัยในการพิจารณาเลือกพื้นที่นำร่อง คือ ประวัติในการเกิดภัยพิบัติ ตำบลและชุมชนมีความเต็มใจที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนำร่องชุมชนมีแนวโน้ม ที่จะเกิดภัยพิบัติพื้นที่นำร่องเป็นพื้นที่ๆ สามารถเดินทางเข้าถึงได้ จะต้องไม่เคยเข้าร่วมโครงการการจัดการสาธารณภัยโดยมีชุมชนเป็นฐานมาก่อน มีโรงเรียนที่อยู่ภายในชุมชน โรงเรียนมีความเต็มใจที่จะเข้ามีส่วนร่วมในโครงการนำร่อง และมีความปลอดภัยของคณะผู้เชี่ยวชาญและผู้ประสานงานโครงการของปภ. ขณะทำงานในพื้นที่นำร่อง
จากการพิจารณาของคณะทำงานฯ ปรากฏว่า ได้มีการเสนอ 3 พื้นที่ คือพื้นที่แหลม ตุ๊กแก ตำบลรัษฎา,พื้นที่กะรน ต.กะรน และพื้นที่หมู่ 6 ต.กมลา ซึ่งใน 3 พื้นที่นี้จะมีการลงพื้นคัดเลือกโดยใช้เกณฑ์ที่กำหนด ให้เหลือพื้นที่ที่เหมาะสมเพียงพื้นที่เดียว เป็นพื้นที่นำร่องของโครงการสำหรับภัยอันเกิดจากคลื่นยักษ์สึนามิ ซึ่งหลังจากจากการประชุม คณะทำงานฯ พร้อมผู้เชี่ยวชาญฯ ก็ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลในพื้นดังกล่าว และจะนำข้อมูลที่ได้มาพิจารณาตามเกณฑ์ที่กำหนดอีกครั้ง เพื่อคัดเลือกพื้นให้เหลือพื้นที่นำร่องของโครงการ สำหรับภัยอันเกิดจากคลื่นยักษ์สึนามิพื้นที่เดียว
สำหรับการดำเนินงานของโครงการฯ กำหนดระยะเวลาการดำเนินงาน 2 ปี โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ระหว่างเดือนกันยายน 2549-มีนาคม 2550 เป็นการเตรียมการและการเริ่มต้น ระยะที่ 2 ระหว่างเดือนเมษายน 2550-มีนาคม 2551 เป็นการดำเนินกิจกรรม และระยะที่ 3 ระหว่างเดือน เมษายน 2551-สิงหาคม 2551 เป็นการดำเนินงานต่อเนื่อง และโครงการเสร็จสมบูรณ์
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์