แหล่งรวม ธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน และ ข้อมูล การท่องเที่ยว ในแถบ อันดามัน
 
เข้าสู่ระบบ G! Builder
เลือกจังหวัด
ข่าวสาร ข่าวทั่วไป ในแถบ อันดามัน ( ภูเก็ต, กระบี่, ระนอง, ตรัง, พังงา, สตูล )

ภูเก็ต, พอช.ร่วมภาคีพัฒนาจัดเวิร์กชอป ฟื้นฟูชุมชนหลังภัยพิบัติ ( ข่าวภูเก็ต )

ข่าวภูเก็ต : พอช.ร่วมภาคีพัฒนาจัดเวิร์กชอป ฟื้นฟูชุมชนหลังภัยพิบัติ
นายไพบูลย์ วัฒนสิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิดประชุม

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจับมือภาคีพัฒนาจัดเวิร์กชอป ?ฟื้นฟูชุมชนหลังภัยพิบัติ? ดึงชุมชนจาก 10 ประเทศร่วมแสดงความคิดเห็น คุยชุมชนในประเทศไทยเป็นกรณีศึกษาสามารถแก้ปัญหาหลังประสบภัยพิบัติได้ดี

วันนี้ (30 ต.ค) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช) UNDP มูลนิธิชุมชนไท และมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย ร่วมกันจัดสัมมนานานาชาติ เรื่อง ?งานฟื้นฟูชุมชนหลังภัยพิบัติด้วยชุมชน? (People?s Leadership to Disasters Recovery :Rights, Resilience and Empowerment)ขึ้น ในระหว่างวันที่ 30 ต.ค.- 1 พ.ย.2549 ณ โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต

โดยมี นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธานในพิธีเปิดประชุม ซึ่งการจัดประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอแนวทางการฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัยพิบัติจากธรรมชาติ โดยใช้ชุมชนเป็นแกนหลักในการให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้าและการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นในระยะยาวโดยจัดให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้ประสบภัยด้านต่างๆ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว สึนามิ และอื่นๆ

รวมทั้งการศึกษาพื้นที่ประสบภัยจริงๆ โดยในการประชุมครั้งนี้มีการเชิญตัวแทนจากกลุ่มผู้ประสบภัยจากประเทศต่างๆ 10 ประเทศเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ศรีลังกา ปากีสถาน มัลดีฟส์ ญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา จีน บังกลาเทศ และประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 300 คน

นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า หลังเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ พายุเฮอริเคนพัดถล่มรัฐชายฝั่งสหรัฐอเมริกา เหตุแผ่นดินไหวในหลายเมือง รวมทั้งเหตุโคลนถล่ม น้ำท่วม ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมหาศาลแก่ระบบเศรษฐกิจ สังคม

โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ในระดับรากฐาน ซึ่งมักจะเข้าไม่ถึงโอกาสในการรับการช่วยเหลือจากรัฐหรือองค์กรสาธารณประโยชน์ ทำให้ชุมชนต้องแก้ปัญหาและฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นที่ได้รับภัยพิบัติเหล่านี้โดยพลังชุมชนเอง

โดยการแก้ไขปัญหาหรือการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติโดยพลังของชาวชุมชนเองกลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ โดยเฉพาะกรณีศึกษาจากการทำงานขององค์กรชุมชนและภาคีการพัฒนาต่างๆ เพื่อฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นหลังประสบภัยสึนามิในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน ที่พบว่าพลังของขบวนองค์กรชุมชนสามารถแก้ปัญหาได้อย่างหลากหลาย ทั้งการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสร้างอาชีพ และอื่นๆ

ส่งผลทำให้แนวทางการให้ขบวนองค์กรชุมชนเข้ามาเป็นหลักในการแก้ไขปัญหาได้รับความสนในทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และในระดับสากล และมีการเดินทางเข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่ประสบภัยคลื่นยักษ์แต่สามารถฟื้นฟูชุมชนขึ้นมาในระยะเวลาไม่นานอย่างต่อเนื่อง

จากเหตุผลดังกล่าวทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน จึงได้ร่วมกับภาคีพัฒนาต่างๆ อาทิ มูลนิธิชุมชนไท ศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเชีย และ UNDP แห่งสหประชาชาติ ร่วมกันจัดงานฟื้นฟุชุมชนท้องถิ่นหลังภัยพิบัติด้วยประชุมชนขึ้น ซึ่งนอกจากจะมีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการของผู้ประสบภัยด้วยกันแล้ว ยังมีการลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการจริงของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิถล่มด้วย ที่บ้านน้ำเค็ม จ.พังงา เกาะลันตา จ.กระบี่ และบ้านปากเตรียม จ.ระนอง

การจัดงานครั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้ชุมชุนที่มาจากหลายประเทศทั่วโลกได้เห็นถึงแนวทางและความเป็นไปได้จริงของภาคประชาชน ที่สามารถเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากธรรมชาติได้ด้วยตัวเอง และจะเป็นการเปิดมติใหม่ของการพัฒนาภาคประชาชนที่เน้นให้ขบวนองค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการทำงานระดับสากลได้ด้วย

ขณะที่ นายไพบูลย์ วัฒนสิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวภายหลังเปิดการประชุมว่า การสัมมนานานาชาติในครั้งนี้เป็นการพูดกันถึงเรื่องของการฟื้นฟูชุมชนหลังภัยพิบัติ ซึ่งเป็นวิธีการที่ชุมชนท้องถิ่นในประเทศต่างๆได้จัดการดูแลตนเองช่วยให้การฟืนฟูชุมชนเป็นไปได้ด้วยดี และเป็นการกรณีศึกษาในการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตโดยไม่ต้องรอให้หน่วยงานอื่นๆเข้าไปช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดการประชุมชาวเลจากสังกาฮู เกาะลันตา จ.กระบี่ กลุ่มอุรักราโว้ย ได้เข้ายื่นหนังสือกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เกี่ยวกับเรื่องของที่อยู่อาศัย ซึ่งขณะนี้ชาวเลกลุ่มดังกล่าวกำลังจะถูกย้ายที่อยู่อาศัยไปอยู่ในที่สูงซึ่งไม่ใช่วิถีชีวิตของชาวเล โดยมีมูลนิธิเอกชนเข้าไปสร้างบ้านบนที่สูงให้จำนวน 90 หลัง และให้ชาวเลย้ายออกจากพื้นที่บริเวณชายหาดภายใน 15 วันหลังจากสร้างบ้านเสร็จ ซึ่งจริงๆแล้วชาวเลไม่ต้องการที่จะย้ายไปอยู่ในที่ที่เข้าจัดให้แต่ก็ไม่สามารถพูดอะไรได้

สำหรับที่อยู่เดิมของชาวเลนั้นทราบว่าทางหน่วยงานอื่นจะเข้าไปใช้ที่ดินในการปรับปรุงภูมิทัศน์ มีการสร้างกำแพงกันคลื่น สร้างศาลาที่พักและอื่นๆ ซึ่งขัดกับวิถีชีวิตของชาวเลที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน ชาวเลเกรงว่าหากย้ายไปอยู่ที่สูงแล้วเรือที่ออกไปหาปลาคงจะไม่มีที่จอด

ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์

Valid XHTML 1.0 Transitional Valid CSS!
ทะเบียนพาณิชย์อีเลคทรอนิคส์ เลขที่ 8373549000215