ลงทุนภาคใต้ยังวิ่งฉิว ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้และการเมือง ไม่กระทบการลงทุนภาคใต้ตอนบน บีโอไอเผย 9 เดือน ทุนไทย-ต่างชาติทุ่มเงินลงทุนแล้ว 36 โครงการ เงินลงทุน 7,263 ล้านบาท กิจการด้านบริการและสาธารณูปโภคมาแรงแซงด้านการเกษตร มั่นใจปีนี้มีโครงการลงทุนไม่ต่ำกว่า 60 โครงการ เงินลงทุนทะลุ 12,000 ล้านบาท
สำนักงานส่งเสริมการลงทุนภาคใต้ เขต 2 สุราษฎร์ธานี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) รายงานสรุปการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน 9 เดือนของปี 2549 ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายนว่า ในรอบ 9 เดือนแรกของปีนี้ บีโอไออนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนจำนวน 39 โครงการ เงินลงทุน 7,263 ล้านบาท
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2548 แล้วจำนวนโครงการ และการเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 โดยในปี 2548 มีโครงการอนุมัติการลงทุนทั้งสิ้น 26 โครงการ เงินลงทุน 9,957 ล้าน ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 27.06 เนื่องจากในช่วงเดียวกันปี 2548 มีโครงการโรงแรมขนาดใหญ่ที่จังหวัดภูเก็ต 1 โครงการ เงินลงทุน 3,823 ล้านบาท และการจ้างงาน 7,842 คน เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 89.01 ตามลำดับ
โครงการที่ได้รับอนุมัติในภาคใต้ตอนบน มกราคม-กันยายน ปี 2549 ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ กิจการผลิตน้ำยางข้นและยางสกิม (2 โครงการ) กิจการไบโอดีเซล กุ้งแช่แข็ง กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเล กิจการผลิตไฟฟ้าจากไบโอแก๊ส และกิจการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ
จังหวัดกระบี่ มีโครงการที่ได้รับอนุมัติจำนวน 6 โครงการ ได้แก่ กิจการผลิตน้ำยางข้น และยางสกิม (2 โครงการ) ขยายพันธุ์ปาล์ม (2 โครงการ) และกิจการโรงแรม (2 โครงการ) จังหวัดภูเก็ต มีโครงการที่ได้รับอนุมัติจำนวน 7 โครงการ ได้แก่ กิจการโรงแรม (4 โครงการ) กิจการเรือยอชต์ให้เช่าเพื่อการท่องเที่ยว กิจการอู่ต่อเรือ และกิจการผลิตซอฟต์แวร์
จังหวัดพังงา มีโครงการที่ได้รับอนุมัติจำนวน 17 โครงการ ได้แก่ กิจการโรงแรมที่ได้รับความเสียหายจากภัยสึนามิ (15 โครงการ) กิจการผลิตชุดกีฬาดำน้ำ และกิจการผลิตลูกกุ้งนอเพลียส จังหวัดนครศรีธรรมราช มีโครงการที่ได้รับอนุมัติจำนวน 1 โครงการ ได้แก่ กิจการซ่อมเรือเหล็กขนาดมากกว่า 500 ตันกรอส จังหวัดระนอง มีโครงการที่ได้รับอนุมัติจำนวน 1 โครงการ ได้แก่ กิจการเนื้อปลาบดปรุงรสแช่แข็ง และจังหวัดชุมพร ไม่มีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในช่วงมกราคม-กันยายน 2549
ส่วนประเภทกิจการที่มีการลงทุนมากที่สุด คือ ประเภทอุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค จำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติ 24 โครงการ ได้แก่ กิจการโรงแรม (21 โครงการ) กิจการเรือยอชต์ให้เช่าเพื่อการท่องเที่ยว กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเล และกิจการผลิตไฟฟ้าจากไบโอแก๊ส รองลงมา ได้แก่ ประเภทอุตสาหกรรมการเกษตรและผลิตผลการเกษตร จำนวน 11 โครงการ ได้แก่ กิจการผลิตน้ำยางข้น และยางสกิม (4 โครงการ) กิจการขยายพันธุ์ปาล์ม (2 โครงการ) กิจการกุ้งแช่แข็ง กิจการผลิตไบโอดีเซล กิจการผลิตลูกกุ้งนอเพลียส กิจการผลิตเนื้อปลาบดแช่แข็ง และกิจการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ
ประเภทอุตสาหกรรมเบา จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ กิจการผลิตชุดกีฬาดำน้ำ และประเภทอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ อู่ต่อเรือ และซ่อมแซมเรือ และ ประเภทอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ กิจการซอฟต์แวร์
โครงการที่ได้รับอนุมัติภาคใต้ตอนบน โครงการขนาดเล็กเงินลงทุนไม่เกิน 20 ล้านบาท มี 2 โครงการ ส่วนใหญ่มีขนาดเงินลงทุนอยู่ระหว่าง 20-200 ล้านบาท จำนวน 27 โครงการ หรือร้อยละ 69.23 เงินลงทุนระหว่าง 200-500 ล้านบาท มีจำนวน 7 โครงการ และเงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท มี 2 โครงการ
นอกจากนี้ จำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติทั้งสิ้น 39โครงการ เป็นโครงการลงทุนของคนไทยทั้งสิ้น 27โครงการ หรือร้อยละ 69 ได้แก่ กิจการโรงแรม (20 โครงการ) และกิจการผลิตน้ำยางข้น และยางสกิม (2 โครงการ) กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเล กิจการซ่อมเรือ กิจการผลิตไฟฟ้าจากไบโอแก๊ส กิจการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ และกิจการซอฟต์แวร์ โครงการที่มีหุ้นไทยร่วมกับหุ้นต่างชาติ มี 8โครงการ หรือร้อยละ 21 ได้แก่ กิจการเรือยอชต์ให้เช่า กิจการโรงแรม (2 โครงการ) กิจการขยายพันธุ์ปาล์ม (2 โครงการ) กิจการผลิตน้ำยางข้น และยางสกิม กุ้งแช่แข็ง และผลิตลูกกุ้งนอเพลียส
สำหรับโครงการที่ลงทุนโดยต่างชาติทั้งสิ้นมี 4 โครงการ หรือร้อยละ 10 ได้แก่ กิจการผลิตชุดกีฬาดำน้ำ กิจการผลิตน้ำยางข้น และยางสกิม กิจการอู่ต่อเรือ และกิจการผลิตเนื้อปลาบดแช่แข็ง
สำหรับแนวโน้มการลงทุนภาคใต้ตอนบนปี 2549 คาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องสูงกว่าปี 2548 คือประมาณ 60 โครงการ เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท และยังคงเป็นภาคการเกษตร และสนับสนุนการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่
ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการเร่งรัด เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ประสบภัยจากสึนามิ และกิจการสาธารณูปโภคและบริการพื้นฐาน ได้แก่ กิจการขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเล กิจการขนส่งทางเรือ กิจการสนามบินพาณิชย์ กิจการผลิตไฟฟ้าจากน้ำเสีย และกิจการผลิตไบโอแก๊สไบโอดีเซล เป็นต้น
นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไอเห็นชอบมาตรการกระตุ้นการลงทุน เพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจกิจการโรงแรมเพื่อปรับปรุงบริการ กระตุ้นการลงทุนใหม่ในแหล่งท่องเที่ยวเป้าหมาย โดยปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการโรงแรม และกิจการสนับสนุนการท่องเที่ยว เพราะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
ข้อมูลจาก : ผู้จัดการออนไลน์